O2O เปลี่ยนชีวิตคนจีน (1)
  2014-03-19 16:46:24  cri

ขณะนี้ O2O กำลังกลายเป็นศัพท์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในวงการเศรษฐกิจ O2O เป็นคำย่อจาก "on line to off line" เป็นรูปแบบการพาณิชย์ที่ทำให้การค้าทั่วไป (off line) กับอินเตอร์เน็ต (on line) เชื่อมโยงกัน โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางซื้อของและชำระเงินในการซื้อสินค้าหรือบริการ

ระบบ O2O ไม่ใช่ของไฮโซ แม้กระทั่งคนขายผักในตลาดกับคนขับแท็กซี่ ขอให้มีโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะสักเครื่องหนึ่งก็เล่นได้แล้ว ระบบนี้ได้ดึงดูดบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนเข้าไปแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งใช้วิธีซื้อหุ้น ควบรวมกิจการ ผูกเป็นพันธมิตร และกลวิธีต่างๆ ซึ่งดึงดูดการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์เกินกว่าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯมาแล้ว เพื่อแย่งชิงตลาดที่นำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ บริษัท Baidu Alibaba และ Tencent หรือเถิงสวุ้น เป็น 3 บริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน Baidu ทุ่มกำลังพัฒนาระบบ

แผนที่ออนไลน์ให้เป็นระบบ O2O ที่สามารถให้บริการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค Alibaba เน้นพัฒนา Application (APP) เช่น ระบบชำระเงินออนไลน์ ระบบซื้อของหรือชำระค่าแท็กซี่โดยผ่านโทรศัพท์มือถือ ระบบแผนที่ออนไลน์ที่สามารถให้บริการทุกอย่างได้ เป็นต้น ส่วน Tencent กำลังพัฒนาระบบ O2O ที่เชื่อมโยงกับ we chat ซึ่งเป็นการสื่อสารออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้

ระบบ O2O กำลังเปลี่ยนชีวิตของคนจีนรุ่นใหม่ เพื่อให้คุณผู้ฟังเข้าใจว่าระบบนี้มีบทบาทอย่างไรต่อชีวิตประจำวัน ผู้เขียนจะยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งเพื่อเล่าให้ฟังว่า ชีวิตของคนจีนรุ่นใหม่มีความสัมพันธ์อย่างไรกับระบบ O2O

อาไจ๋เกิดหลังปี 1985 คนจีนเรียกคนที่เกิดในช่วงนี้ว่า"ปาอู่โฮ่ว"และถือเป็นตัวแทนชาวจีนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ คนจีนมักเรียกผู้ชายที่ชอบอยู่แต่ในบ้านไม่ไปไหนว่า"ไจ๋หนัน"

เช้าวันเสาร์ อาไจ๋ตื่นขึ้นมาหลังจากนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ เขาหยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิด we chat ดูว่าในแวดวงเพื่อนๆส่งข่าวคราวอะไรกันบ้าง เห็นเพื่อนกำลังนัดกันทานข้าว จึงคลิกเข้าไปในเว็บไซต์จองร้านอาหารและเลือกร้านปลาย่างแห่งหนึ่งซึ่งลูกค้าให้ความพึงพอใจค่อนข้างมากพร้อมจองที่นั่งไว้เรียบร้อย แล้วนัดเพื่อนๆ เจอกันที่ร้าน

หลังจากนั้น อาไจ๋ก็ล้างหน้าแปรงฟันแต่งตัวเรียบร้อย แล้วออกจากบ้าน เมื่อลงบันไดเขาใช้โทรศัพท์มือถือจองแท็กซี่ผ่าน we chat ภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาทีก็มีคนขับแท็กซี่โทรกลับมาบอกว่าอีก 2 นาทีก็จะมารับตามสถานที่นัดไว้ พอนั่งรถไปถึงร้านอาหาร ค่าแท็กซี่ตามมิเตอร์คือ 38 หยวน แต่เนื่องจาก we chat กำลังโปรโมทการใช้บริการแท็กซี่ผ่านระบบออนไลน์ นั่นคือ we chat จะคืนเงินให้ลูกค้า 15 หยวนในการจ่ายค่าแท็กซี่แต่ละครั้ง พร้อมให้เงินรางวัลแก่คนขับที่รับลูกค้าผ่าน we chat ครั้งละ 15 หยวนเช่นกัน ดังนั้น อาไจ๋จึงจ่ายค่าเท็กซี่ครั้งนี้เพียง 13 หยวน

หลังจากเพื่อนๆ มากันครบแล้ว ก็หารือกันว่าจ่ายค่าอาหารด้วยวิธีไหนคุ้มที่สุด วิธีหนึ่งคือใช้มือถือสแกนบาร์โค้ด 2 มิติที่ติดบนโต๊ะอาหารจะกลายเป็นสมาชิกของร้านอาหารทันที ซึ่งได้ส่วนลด 15% หรือใช้คูปองส่วนลดที่ทางเว็บไซต์แถมให้ จะได้เกี๊ยวทอดฟรีหนึ่งจาน หรือซื้อคูปองมูลค่า 60 หยวนในราคา 45 หยวนจากอินเตอร์เน็ต 3 วิธีดังกล่าวนี้ ทางร้านให้เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งจ่ายค่าอาหาร

หลังจากทานข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาไจ๋จ่ายค่าอาหารทั้งหมดก่อน และเพื่อนๆ ต่างควักมือถือออกมาจ่ายเงินให้กับอาไจ๋ในจำนวนเงินที่เฉลี่ยกันไว้ผ่านจือฟู่เป่า ซึ่งเป็นระบบชำระเงินออนไลน์ของ Alibaba โดยไม่ต้องควักเงินสดเพราะทุกคนมีบัญชีเงินฝากเอาไว้ เหมือนกับเป็นการหักเงินทางบัญชี โอนให้กับอาไจ๋

ออกจากร้านอาหาร อาไจ๋เดินเข้าไปในร้าน outlets แห่งหนึ่งเพราะอยากซื้อกางเกงสักตัว เขาใช้ we chat สแกนบาร์โค้ดและชำระเงิน ซึ่งสามารถประหยัดเวลาเข้าคิวจ่ายเงินได้ไม่น้อย

ใกล้ถึงเวลาอาหารเย็นแล้ว อาไจ๋อยากทานอะไรง่ายๆ เลยเปิดแผนที่ Baidu ในโทรศัพท์มือถือหาร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่อยู่ใกล้ๆ และเส้นทางที่เดินไปใกล้ที่สุด หลังจากนั้น อาไจ๋เดินตามเส้นทางที่แผนที่ Baidu ระบุไว้ ใช้เวลา 10 นาทีถึงร้านอาหารแมคโดนัลด์ อาไจ๋ทานแฮมเบอร์เกอร์ไปเล่น we chat ไป เห็นภาพ KTV ที่เพื่อนโชว์และบอกว่าเครื่องเสียงดี มีเพลงครบ จึงรีบกดเครื่องหมายแสดงความเห็นด้วย และฝากข้อความว่า"ขอเข้าร่วม" ถือเป็นรายการบันเทิงปิดท้ายวันเสาร์ของอาไจ๋

นี่ก็คือชีวิต O2O ของชาวจีนรุ่นใหม่ในวันหยุดสัปดาห์ เป็นการสะท้อนว่าอินเตอร์เน็ตได้ซึมซับเข้าสู่ทุกๆ ด้านของชีวิต บริการออนไลน์ ระบบชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและร้านค้าตัวจริง เป็นปัจจัย 3 อย่างที่ประกอบเป็นระบบ O2O ขาดใครก็ไม่ได้ ตั้งแต่ we chat ซึ่งเป็นวิธีติดต่อกับเพื่อนๆ อย่างสะดวกรวดเร็ว เว็บไซต์รวมกลุ่มกันซื้อของหรือจองร้านอาหาร แผนที่ baidu บาร์โค้ด 2 มิติ ระบบชำระเงินของ alibaba ระบบชำระเงินของ we chat ไปจนถึงสถานที่เกิดพฤติกรรมการบริโภคจริง เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและ KTV เป็นต้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ การใช้บริการแท็กซี่ เริ่มจากการใช้ระบบ we chat หรือ จือฟู่เป่า เรียกแท็กซี่ ไปจนถึงชำระค่าแท็กซี่ด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็นการใช้ระบบ O2O อย่างครบวงจร

นอกจากนี้ O2O ยังสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านการจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน การท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ เกือบทุกด้าน กล่าวง่ายๆ คือ O2O ค้นหาผู้บริโภคออนไลน์และชักจูงไปบริโภคโดย off line ซึ่งตลาดนี้มีผลประโยชน์แฝงไว้อย่างมหาศาล บริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จึงพากันทุ่มเงินอย่างไม่อั้นเพื่อครองความเป็นหนึ่งเหนือใครในตลาดนี้

 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040