O2O เปลี่ยนชีวิตคนจีน (2)
  2014-03-19 16:48:11  cri

ระบบ O2O กำลังเปลี่ยนชีวิตชาวจีน ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ การใช้บริการแท็กซี่ผ่าน we chat หรือ จือฟู่เป่า เปลี่ยนพฤติกรรมออกเดินทางของชาวจีนในระยะเวลาหนึ่ง ปัจจุบัน การเรียกแท็กซี่ริมถนนจะถูกมองว่าล้าสมัย เพราะใช้ซอฟต์แวร์เรียกแท็กซี่ในโทรศัพท์มือถือ บอกสถานที่ขึ้นรถและจุดหมายปลายทาง ภายในเวลาไม่กี่นาที แท็กซี่ก็จะมารอ แถมค่ารถพอๆ กับค่ารถเมล์ด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพราะบริษัท tencent และ alibaba ซึ่งเป็นเจ้าของ we chat และจือฟู่เป่า ใช้วิธีคืนเงินให้กับผู้โดยสารแท็กซี่ที่ชำระค่ารถผ่าน we chat หรือ จือฟู่เป่า ครั้งละ 10 หยวน อีกทั้งให้เงินรางวัลแก่คนขับผู้ใช้ระบบออนไลน์ครั้งละ 15 หยวน ทำให้ทั้งผู้โดยสารและคนขับต่างกระตือรือร้นที่จะใช้บริการมาก ยกตัวอย่าง เช่น ค่าแท็กซี่ในปักกิ่งเริ่มต้นจาก 13 หยวน ต่อระยะทาง 2.3 กิโลเมตร หากรถแล่นไม่เกิน 2.3 กิโลเมตร เวลาผู้โดยสารจ่ายค่าเท็กซี่ผ่านระบบออนไลน์ we chat หรือ จือฟู่เป่าจะลดราคาให้ 10 หยวน แสดงว่าผู้โดยสารต้องจ่ายเพียง 3 หยวนเท่านั้น ถึงแม้ราคานี้จะแพงกว่าค่ารถเมล์ ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 0.4 หยวน แต่ความสะดวกสบายและการประหยัดเวลาเป็นความได้เปรียบที่รถเมล์เทียบไม่ได้ มีอยู่ช่วงหนึ่งบริษัท 2 แห่งดังกล่าวแข่งกันแจกเงินอุดหนุนค่าเท็กซี่ เคยมากที่สุดถึง 15 หยวน ซึ่งหมายความว่า หากค่าแท็กซี่ไม่เกิน 15 หยวน ผู้โดยสารมิเพียงแต่ไม่ต้องจ่ายเงินเท่านั้น หากยังจะได้เงินเสียด้วยซ้ำ ชาวจีนมักเปรียบเทียบความโชคดีว่า"เทียนซ่างเตี้ยวเสี้ยนปิ่ง"แปลว่าโรดีไส้หมูตกจากฟ้ามาทับหัว คราวนี้เหมือนกับมีโรดีก้อนใหญ่หล่นลงมาทับหัวจริงๆ ทำให้เกิดกระแสนิยมใช้บริการแท็กซี่ผ่านระบบออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะอย่างแพร่หลายมากที่สุด

การมีโอกาสได้นั่งแท็กซี่ฟรี ทำให้บรรดาผู้บริโภคชอบใจมาก เหตุใดบริษัท tencent และ alibaba จึงยอมควักเงินให้ลูกค้าโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน คำตอบคือ การใช้บริการแท็กซี่โดยผ่านระบบออนไลน์ ถือเป็นวิธีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลูกค้ายอมรับง่ายและใช้สะดวกที่สุด และมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเครื่องมือเหมาะที่สุดในการทดลองประสิทธิภาพการใช้งานของระบบ O2O ที่สำคัญที่สุดคือ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ประสงค์จะให้ลูกค้านำโทรศัพท์มือถือผูกมัดกับบัตรธนาคาร และปลูกฝังนิสัยให้ลูกค้าเคยชินกับการชำระเงินผ่านระบบเคลื่อนที่ ตราบใดได้กลายเป็นความเคยชินไปแล้ว ถึงจะไม่ลดราคา ลูกค้าก็จะใช้ช่องทางนี้จ่ายเงินอยู่ดี จึงเป็นการเตรียมตัวไว้สำหรับการแผ้วถางกิจการใหม่ในอนาคต ใครได้เป็นที่หนึ่งในด้านนี้ ก็จะนำหน้าในธุรกิจการเงินออนไลน์และระบบการชำระเงินเคลื่อนที่ในวันข้างหน้า

หลังจากแข่งกันเผาเงินรวมหลายพันล้านหยวนมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน ปัญหาต่างๆ ก็ปรากฏขึ้น เช่น คนขับแท็กซี่ใช้โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งดาวโหลดซอฟต์แวร์ we chat อีกเครื่องดาวโหลดซอฟต์แวร์จือฟู่เป่า และอาศัยช่องโหว่ของ 2 ระบบนี้โกงเงิน ถึงแม้ทางบริษัทออกข้อกำหนดป้องกันและปรับพฤติกรรมขี้โกง แต่ดูเหมือนความกล้าเสี่ยงและความ"ฉลาด"ของคนขับรถมักประสบความสำเร็จบ่อยๆ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักจะตกเป็นกลุ่มผู้เสียเปรียบเนื่องจากส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะไม่เป็น และไม่กล้านำมือถือเชื่อมต่อกับบัตรธนาคารเพราะกลัวไม่ปลอดภัย ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุ และทุกวันนี้ เทคโนโลยียิ่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว ช่องว่างนี้ก็ยิ่งห่างกันมากขึ้น ถือเป็นความไม่ยุติธรรมของสังคมอีกแบบหนึ่ง การทุ่มเงินอุดหนุนคนรุ่นใหม่ใช้บริการทันสมัยโดยมองข้ามความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้ความไม่ยุติธรรมนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ในที่สุด เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท tencent และ alibaba ต่างแสดงท่าทีว่าจะยุติสงครามเผาเงิน โดยพากันปรับลดเงินอุดหนุนค่าเท็กซี่ลงจากที่เคยสูงสุดเป็น 15 หยวนมาเป็นประมาณ 5-6 หยวน สงครามเอาใจลูกค้าครั้งนี้ ทำให้สองบริษัทได้ลูกค้ามารวมกว่า 80 ล้านคน คิดเป็น 20% ของยอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ แม้มาตรการอุดหนุนด้วยเงินสดอาจจะลดน้อยลงเรื่อยๆ จนสิ้นสุดลง แต่การแข่งขันยังคงจะดำเนินต่อไป และวิธีการเอาใจลูกค้าคงจะแสดงออกมาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อชนะใจลูกค้ารุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของตลาดในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งจะผลักดันการปฏิรูประบบการค้า การพาณิชย์ การเงิน และทำให้วิถีชีวิตของคนจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลุ่มลึก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040