วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศูนย์จีน-อาเซียนได้เชิญอาจารย์เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งมาที่ซีอาร์ไอภาคภาษาไทย โดยคุณหานซี หัวหน้าภาคภาษาไทยได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณลดา ภูมาส ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ศูนย์จีน-อาเซียนและนายชุย อี๋เหมิง ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอได้ร่วมดำเนินรายการกับอาจารย์เกื้อพันธุ์ นาคบุปผา กรุณาเชิญอาจารย์เล่าถึงการใช้ชีวิตในจีน ความประทับใจต่อนักศึกษาจีนและการสอนภาษาไทยที่จีน เป็นต้น
ชุย อี๋เหมิง: วันนี้ผมได้พบกับอาจารย์เกื้อพันธุ์อีกแล้ว ท่านเป็นอาจารย์ของผมตลอดทั้ง 4 ปีเมื่อเรียนในมหาวิทยาลัย อาจารย์มาประเทศจีนเป็นครั้งแรกก็ 20 ปีก่อนแล้วใช่ไหม
อาจารย์เกื้อพันธุ์: กว่า 20 ปี เพราะครั้งแรกที่มาคือปี 1992
ชุย อี๋เหมิง: เนื่องในโอกาสอะไรครับ
อาจารย์เกื้อพันธุ์: ต้องท้าวความถึงสัญญาก่อนนะคะ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งมีสัญญากับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นสัญญาการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เรื่องที่ทำกันจริง ๆ ก็คือทางมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งเชิญอาจารย์ไทยมาสอนภาษาไทย เพราะว่ามหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งเปิดสอนภาษาไทยมานานแล้ว แล้วก็มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ก็เชิญอาจารย์จีนไปสอนภาษาจีนที่โน่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นหน่วยงานแรกที่เปิดสอนภาษาจีนหลักสูตรครูภาษาจีน เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่นี้สัญญาระหว่างสองมหาวิทยาลัยเป็นสัญญาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองประเทศ สัญญานี้มีมากว่า 20 ปีแล้วค่ะ แล้วก็อาจารย์ท่านแรกที่มาสอนคือปี 1991 ดิฉันมาเป็นคนที่สอง จากนั้นอาจารย์ภาคไทยก็ผลัดกันมา ผลัดกันมาคนและเทอม เพราะว่าระเบียบราชการไทยเป็นอย่างนี้ เรามาได้ประมาณหนึ่งเทอมดีที่สุด
อีก 7 ปีถึงมาใหม่ ในปี 1999 แล้วพอต่อมาอีกทีก็ 2004 และ 2005 ทีนี้พอถึง 2005 ที่มาเทอมนั้น ดิฉันใกล้จะเกษียณอายุ พอมาแล้วก็ต่อไปเรื่อย ๆ จีนปีนี้ปีที่ 9 เรื่องย่อ ๆ ก็แค่นี้
ชุย อี๋เหมิง: ผมรู้ว่า เวลาอาจารย์สอนภาษาไทย ไม่เพียงแต่สอนที่ห้องเรียนเท่านั้น หากยังเชิญนักศึกษาไปเรียนที่บ้านโดยไม่คิดค่าเล่าเรียน ทำไมอาจายร์มีความคิดเห็นอย่างนี้
อาจารย์เกื้อพันธุ์: มันเป็นอย่างนี้ค่ะ ความจริงก็ไม่ใช่ทำไรพิเศษหรอก แต่ว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง เขามีให้สัปดาห์ละสองชั่วโมงที่จะให้เราฝึกนักศีกษาปีหนึ่งให้พูดให้ชัดเจน ทุกคนก็รู้ว่าทำไม่ได้ ทีนี้โชคดีที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งมีที่พักให้ใดในมหาวิทยาลัย ดิฉันอยู่วิทยาเขตตะวันตก เพราะฉะนั้นก็ เอานักศึกษาปีหนึ่งแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้มาหัดพูด ปีหนึ่งทำอย่างนั้น มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งรับนักศึกษาปีเว้นปี ปีหนึ่งก็จะอยู่กับปี 3 ปีที่ 3 เขาก็จะเขียนบทความ เขียนอะไรพวกนี้ ก็ยังไม่ต้องตรวจมาก แต่ปีที่หนึ่งก็ต้องเร่งไปฝึกพูด พอเด็กขึ้นปีที่สอง ก็เด็กปี 3 ขึ้นปีที่ 4 ต้องเขียนรายงานอย่างที่คุณชุยเคยว่า ต้องเขียนรายงาน ต้องเขียนปริญญานิพนธ์ ตอนนี้ต้องให้เวลาเด็กปี 4 ตลอดทุกวันทั้งบ่ายทั้งเย็น เพราะว่าการจะพัฒนาการเขียน ดิฉันเห็นว่าเจ้าตัวเขาก็ต้องรู้ คือนักศึกษาจีนก็ใช้วิธีทั่วไปคิดเป็นจีนก่อนแล้วค่อยเขียนเป็นไทย มันก็เปลี่ยนก็แปลก เพราะฉะนั้น เมื่อบอกแล้วก็ต้องบอกว่า ทำไมไม่ได้ ต้องใช้อะไร คือพัฒนากันไปให้เสร็จในตัวเลย คือให้เขียนเป็นภาษาไทยที่ดีด้วย
ชุย อี๋เหมิง: นักศึกษานี่ก็โชคดีมาก เพราะว่าอย่างเช่นอาจารย์ฝึกนักศีกษาจนตกเย็นแล้ว นักศึกษาหิวข้าว ยังไม่ได้กินข้าว อาจารย์ก็จะช่วยทำอาหารไทยเสริฟด้วย
คุณลดา: นอกจากเรียนภาษา แล้วก็ยังเรียนวัฒนธรรมด้วย
อาจารย์เกื้อพันธุ์: เรื่องนี้ นักศึกษาจะจำได้แต่จริง ๆ ไม่บ่อยนัก อาจจะเป็นเช่น เขาเรียนตลอดแล้วก็มาเรียนอีกยังไม่ได้กินข้าว เมื่อก่อนนี่ โรงอาหารไม่ได้เปิดนาน เพราะฉะนั้นก็คงกินได้แค่ข้าวผัด แกงจืดอะไรอย่างนี้ แต่ว่าสำหรับคนที่หิว ก็จะจำได้แม่น จริง ๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรนักหนา แต่ก็มีบ้างอย่างนี้
ชุย อี๋เหมิง: อาจารย์ฝีมือยอดเยี่ยมจริง ๆ
(Cui)