สถานทูตจีนจัดงานทอล์ค"จีน-อาเซียน: พันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งไปข้างหน้า"
  2014-09-26 21:27:23  cri

กรุงเทพฯ – 18 กันยายน 2557 เวลา 14.00 น. ณ ธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ เขตราษฎร์บูรณะ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้กล่าวต้อนรับในการเปิดงานเสวนา ""จีน-อาเซียน: พันธมิตรทางยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งไปข้างหน้า" งานนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรม "Let's Talk" ที่สนับสนุนโดยสถานทูตจีนประจำประเทศไทย มีวัตถุประสงค์มุ่งหวังให้บุคคลจากหลายภาคส่วนจากจีนและไทยได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและประชาคมอาเซียน

นายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยกล่าวว่า เป็นเวลากว่า20ปีที่จีนและอาเซียนได้ผ่านกระบวนการณ์และขั้นตอนต่างๆในการจับมือร่วมกันจนเข้าสู่ยุคเพชรของความสัมพันธ์ ส่วนตัวประเทศจีนได้พัฒนาจนกลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ทั่วโลกยังคงจับตามองและตั้งคำถามว่าอนาคตจีนจะไปในทิศทางใด การที่ประเทศในเขตอาเซียนรวมตัวกันนั้นทำให้เกิดอิทธิพลขึ้นหลายอย่างและเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่จีนทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การร่วมมือกันของจีนและอาเซียนได้อาศัยประเทศไทยเป็นผู้ประสานและผลักดัน จีนและอาเซียนควรจะเคารพนับถือซึ่งกันและกัน มองการเติบโตของเพื่อนเป็นการพัฒนาไม่ใช่การคุกคาม อนาคตข้างหน้ามีสิ่งที่ต้องให้รับมือและเผชิญหน้าทำให้ต้องมีการเตรียมพร้อมมากมาย เบื้องต้นทุกคนควรทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับประเทศไทย ตอนนี้มีเรื่องที่น่ายินดีคือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยเริ่มฟื้นฟู, มีคนจีนมาสำรวจและหาโอกาสลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภคซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ จีนยินดีร่วมมือกับไทย โดยการร่วมมือไม่ใช่แค่ค้าขายทำกำไรแต่ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ซึ่งจะทำให้เป็นผลดีต่อคนทั้งประเทศ นักธุรกิจของไทยสามารถวางใจได้ว่าการร่วมมือจะยึดผลประโยชน์สองฝ่ายเป็นสำคัญ

ด้านศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า สำหรับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและอาเซียนมี 3 เรื่องหลักที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ข้อหนึ่ง: ความเข้าใจในยุทธศาสตร์กันและกัน, ข้อสอง: ระดับของความไว้เนื้อเชื่อใจในยุทธศาสตร์ฯ และข้อสาม: ปัจจัยที่ท้าทายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มากที่สุด ทางออกของเรื่องนี้คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง ประเทศจีนคิดไวทำไว ส่วนอาเซียนนั้นเป็นแบบค่อยคิดค่อยทำ เต็มไปด้วยความหลากหลายและไม่มีนโยบายต่างประเทศร่วมกันในกลุ่ม การเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือและเก็บเรื่องที่คิดต่างกันเอาไว้ก่อน การแก้ปัญหาต้องมีการพบปะอย่างสม่ำเสมอ คุยกันอย่างเปิดอก ลดความหวาดระแวง กระชับทุกกลไกความร่วมมือ และที่สำคัญจะต้องแปรยุทธศาสตร์โครงการความร่วมมือต่างๆให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040