สำนักข่าวซินหวารายงานว่า เมื่อปี 2013 จีนเสนอเค้าโครงของยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ปี 2014 ได้จัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม และมีการลงนามในสัญญาก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนสาธารณูปโภคเอเชีย ปี 2015 นี้ การพัฒนา"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"ได้เข้าสู่ขั้นตอนปฏิบัติการอย่างแท้จริง หลายคนอาจยังสงสัยว่า ยุทธศาสตร์ เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนจะสร้างโอกาสอะไรให้กับประเทศและเขตแคว้นในบริเวณนี้บ้าง
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องระบุว่า ขณะนี้ ตลาดของจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ปริมาณการสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่อันดับแรกของโลก มีอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงจำนวนมากขึ้น มีประสบการณ์ในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานมากมาย และการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จีนสามารถที่จะสร้างโอกาสใหม่แห่งการพัฒนาให้กับประเทศในบริเวณนี้ อีกทั้งยังจะร่วมรับมือความเสี่ยงกับประเทศต่างๆ ในบริเวณ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" มีจำนวนกว่า 60 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่และประเทศกำลังพัฒนา และส่วนใหญ่อยู่ในยุคที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ดังนั้น การดำเนินความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันจึงมีอนาคตอย่างกว้างขวาง
สถิติระบุว่า เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา ยอดการค้าระหว่างจีนกับประเทศในบริเวณ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ได้ทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็น 1 ใน 4 ของยอดการค้าต่างประเทศของจีน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของยอดการค้าระหว่างกันเป็นร้อยละ 19 เพิ่มมากกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของยอดการค้าต่างประเทศของจีนในระยะเดียวกันประมาณร้อยละ 4
ถึงแม้ว่ายอดการค้าของประเทศในบริเวณ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ประสบปัญหามากมาย เช่น ผ่านด่านไม่สะดวก การกระจายสินค้าไม่คล่อง และมีกำแพงทางการค้ามากมาย ศจ.จางรุ่ย จากคณะกรรมการวิจัยตลาดจีนระบุว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนจะเน้นสร้างเครือข่ายเขตการค้าเสรีที่ถือ ประเทศรอบข้างเป็นสำคัญ แผ่ขยายออกไปถึงประเทศในบริเวณ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" และมุ่งไปสู่ทั่วโลก
นายซุน จ้วงจื้อ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาเอเชียกลางจากสภาสังคมศาสตร์จีนระบุว่า การเชื่อมโยงกันด้วยเส้นทางทางบกจะทำให้สภาพเดิมของอารยธรรมในพื้นที่ทางบกได้รับการเปลี่ยนแปลง การไปมาหาสู่กันทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายระหว่างประเทศเอเชียกับยุโรป และการดำเนินความร่วมมือให้ลุ่มลึกยิ่งขึ้นย่อมจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก