การฝึกฝนความอดทนและความกล้าหาญของเด็กปฐมวัย
ชาวเยอรมันเห็นว่า ไม่เร็วก็ช้า เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องไปดำรงชีวิตอยู่เองในสังคม จึงต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กตกอยู่ภาวะลำบากแล้วรู้สึกขี้ขลาดและกังวล และไม่รู้ควรจะแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างไร ควรต้องฝึกความอดทนต่อสู้ในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมหรือเล่นเกมส์กับเพื่อนๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เด็กๆ มีความกล้าหาญเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ดังนั้น รายการฝึกฝนความอดทนและความกล้าหาญของเด็กปฐมวัยจึงเป็นที่นิยมกันมากในโรงเรียนอนุบาลของเยอรมนี
ในโรงเรียนอนุบาลของเยอรมนี บริเวณออกกำลังกายของเด็กๆ มักเป็นพื้นหญ้า หินเล็กหรือทราย ตรงนี้ต่างกันกับโรงเรียนอนุบาลของจีนซึ่งนิยมใช้พื้นยางนุ่มๆ รองรับเด็กๆ เล่นเกมส์ เด็กเยอรมันชอบเล่นเกมส์นอกห้อง ในระหว่างวิ่งเต้นเด็กหกล้มเป็นธรรมดา จะไม่มีใครโอ๋เด็กที่ร้องไห้ ถ้าหกล้มก็จะให้ลุกขึ้นเอง เด็กจึงร้องไห้แป๊บเดี๋ยวก็หยุด เด็กใจกล้าบางคนชอบปีนบันไดขึ้นตำแหน่งสูงๆ ครูก็แทบจะไม่ดุห้าม แต่จะเข้าไปอยู่ใกล้ตัวเด็ก คอยป้องกันความปลอดภัยให้
ถึงแม้ในฤดูหนาว เด็กเยอรมันที่วิ่งเล่นนอกห้องก็ไม่มีใครใส่เสื้อกันหนาวหนาๆ บางคนใส่เพียงเสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้นก็ออกไปเล่นได้ ครูในโรงเรียนอนุบาลอธิบายว่า เด็กๆ ใส่เสื้อเบาบางกว่าผู้ใหญ่ถูกต้องแล้ว เพราะเด็กสุขภาพแข็งแรงจะมีพลังงานสูง ออกกำลังกายยิ่งแรง เหงื่อยิ่งไหลออกมาก หากให้ใส่เสื้อหนา โดนลมแล้วกลับเป็นหวัดได้ง่าย นอกจากนี้ เสื้อกันหนาวหนาทึบก็จะกระทบต่อความคล่องแคล่วของเด็กๆ ในระหว่างวิ่งเล่นด้วย
ไม่บังคับเด็กให้กระทำในสิ่งใดที่เด็กไม่ประสงค์
ครูในโรงเรียนอนุบาลของเยอรมนีแนะนำว่า ชาวเยอรมันไม่นิยมป้อนอาหารลูก ไม่ว่าในโรงเรียนหรือในบ้าน ถ้าหิวข้าวจริงๆ ลูกก็จะทานเอง เด็กที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ป้อนอาหารทุกครั้ง ไม่เพียงแต่ทำให้คนอื่นลำบากเท่านั้น หากจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของเด็กด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยของเยอรมนีเตือนว่า เมื่อเด็กๆ พบสิ่งที่ยังทำไม่เป็น ผู้ใหญ่อย่ารีบเข้าไปช่วย ควรคอยให้กำลังใจหรือสอนวิธีการทำให้เด็กลงมือจัดการเอง ผู้ใหญ่จงอย่าบังคับเด็กให้กระทำในสิ่งที่เด็กไม่ปรารถนา ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการช่วยเด็กแก้ปัญหาโดยเด็กไม่มีส่วนร่วม เพราะกระทบถึงความเป็นอิสระของเด็ก ถ้าเคยชินกับการได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่อย่างง่ายๆ แล้ว เด็กจะไม่ชอบคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเองในอนาคต
ผู้ใหญ่ต้องรู้จักขออภัยจากเด็ก
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยของเยอรมนีเห็นว่า ผู้ปกครองต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง พยายามให้ความรักแก่เด็กให้มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ความรักแบบหลง และต้องเคารพศักดิ์ศรีของเด็กและจิตใจเคารพตนเองของเด็ก ดังนั้น ผู้ปกครองควรใช้คำว่า "ขอโทษ ขออภัย และขอบใจ" บ่อยๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า ได้รับความเคารพจากพ่อแม่เสมอ
เนื่องจากได้รับการเอาใจใส่และความเคารพจากพ่อแม่ เด็กเยอรมันมักจะเข้าร่วมกิจกรรมในครอบครัวตั้งแต่เนินๆ และกล้าแสดงความเห็นส่วนตัว เช่น การติชมและความปรารถนาของเด็กเองในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รถยนต์ การตกแต่งบ้าน และการทำงานบ้าน โดยเด็กจะมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของบ้านตัวน้อย ส่วนผู้ปกครองชาวเยอรมันก็ชอบรับฟังและเคารพความเห็นของลูก และคอยให้การชื่นชมแก่เด็กในกรณีที่เด็กมีความคิดที่สร้างสรรค์และกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควร
กฎหมายเยอรมนีห้ามผู้ปกครองบ่นลูกอย่างจุกจิกไม่รู้จบ
การรักเด็กและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก เป็นกระแสนิยมของสังคมเยอรมนี กฎหมายเอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทุกประเภทของเด็ก และระบุว่า ลูกควรช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น ล้างจาน กวาดพื้นและออกไปซื้อของ เป็นต้น มีส่วนช่วยให้เด็กเคยชินกับการทำงานบ้าน
ที่สำคัญ กฎหมายห้ามพ่อแม่ "บ่นลูกอย่างจุกจิกไม่รู้จบ ดุด่าและทุบตี ไม่รักและไม่มีความรับผิดชอบกับลูก" อย่างเด็ดขาด ถ้าเด็กเห็นว่าไม่ได้รับความเคารพหรือการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ มีสิทธิ์ไปยื่นฟ้องพ่อแม่ในศาล พ่อแม่ที่ไม่มีความรับผิดชอบย่อมจะถูกลงโทษอย่างหนัก
มองเด็กเป็นเมล็ดพันธุ์หนึ่งเมล็ด
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแก่เด็กปฐมวัยของเยอรมนีอธิบายว่า ชาวเยอรมันมองเด็กเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมควรเติบโตในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ผู้ปกครองจะไม่ควบคุมวิถีทางการเติบโตของเด็กมากเกินควร กลับต้องพยายามสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้เด็ก ให้เด็กเติบโตและพัฒนาตัวเองอย่างมีเสรีภาพ
ข้อนี้สะท้อนจากวิธีการอุ้มเด็กของชาวเยอรมัน โดยอุ้มเด็กทารกนั่งบนแขนแบบหันหน้าออก หลังอิงกับอกของผู้ใหญ่ ใช้แขนอีกข้างหนึ่งประคองตัวเด็กไว้ ให้ทั้งแขนและขาของเด็กทารกหันออกไปข้างนอก จะได้มีกิริยายื่นออกถอนกลับได้ตามสบาย นอกจากนี้ ทัศนวิสัยของเด็กกับผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ทั่วทั้งร่างกายของเด็กสามารถสัมผัสกับแสงอาทิตย์และอากาศอย่างเต็มที่ เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเด็กตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ