เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"พระพุทธรูปมัมมี่พระจีน" ตามคืนไม่ง่าย
  2015-03-26 17:19:06  cri

ภายหลังการพิสูจน์ตรวจสอบจากหลักฐานภาพถ่าย การจดบันทึก สิ่งของ และสอบถามพยานบุคคลของหน่วยงานวัฒนธรรมมณฑลฝูเจี้ยน สำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีนได้ออกมาแถลงว่า ขณะนี้สามารถกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปโบราณมัมมี่พระจีน ที่มีอายุเก่าแก่นับพันปีและถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประเทศฮังการีเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่หายไปจากศาลเจ้าผู่จ้าวถาง หมู่บ้านหยางชุน อำเภอต้าเถียน มณฑลฝูเจี้ยนของจีนในปี 1995

 

(ซ้าย)ภาพถ่ายพร้อมเครื่องทรงในอดีต

(ขวา)พระพุทธรูปโบราณประจำหมู่บ้านที่เหลือเพียงสององค์บนแท่นบูชาในศาลเจ้า

ทั้งนี้ พระพุทธรูปเก่าแก่ประจำหมู่บ้านองค์ดังกล่าว เป็นร่างพระอาจารย์จางกง(章公祖师) ที่ละสังขารในช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ และได้มีการนำร่างท่านไปชุบทอง เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้าน โดยเรียกขานกันว่า พระอาจารย์ "ลิ่วเฉวียน(六全)" เนื่องจากองค์พระมีร่างกาย ศีรษะ และแขนขา รวมครบสมบูรณ์ทั้งหกนั่นเอง ซึ่งพระพุทธรูปมัมมี่พระจีนที่ถูกนำไปจัดแสดงในฮังการีครั้งนี้ เป็นสมบัติส่วนตัวของนักสะสมชาวเนเธอร์แลนด์ที่ระบุว่าซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาตรวจสอบทั้งจากภาพถ่ายของชาวบ้านเมื่อปี 1989 แสดงให้เห็นถึงรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความละม้ายคล้ายคลึงมาก รวมถึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "พระอาจารย์จางกง" เป็นพระพุทธรูปในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งตรงกับการตรวจสอบของนักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ที่ระบุว่า มีอายุอยู่ในระหว่างยุคคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 นอกจากนี้ที่รององค์พระพุทธรูปที่ถูกนำจัดแสดงด้วยกันที่พิพิธภัณฑ์ในฮังการีครั้งนี้ ก็มีตัวหนังสือจีนระบุนามว่าพระอาจารย์จางกง ณ วิหารผู่จ้าวถางไว้อย่างชัดเจนตรงกันด้วย

ปัจจุบัน กรมมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีนกำลังรวบรวมข้อมูลและติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการติดตามคืนอยู่ ซึ่งสถิติจากสมาคมค้นคว้าด้านวัฒนธรรมจีนระบุว่า โบราณวัตถุของชาติทั้งที่ถูกปล้นชิงไปในช่วงสงครามและจากการลักลอบขโมยหรือขุดสุสาน มีจำนวนกว่า 10 ล้านชิ้น กระจัดกระจายไปยังประเทศในยุโรปและอเมริกา รวมถึงเอเชียตะวันออก โดยเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติลำดับหนึ่งและสองมากกว่าล้านชิ้น

ด้านผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า การติดตามโบราณวัตถุกลับคืนจากต่างประเทศเป็นเรื่องยากและมีขั้นตอนซับซ้อนมาก กรณีนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ถูกขโมยหรือขนย้ายออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมายฉบับปี 1995 มีสมาชิกลงนามเพียง 37 ประเทศเท่านั้น ซึ่งแม้เนเธอร์แลนด์จะลงนามในปี 1996 แต่จวบถึงปัจจุบันรัฐสภาของเนเธอแลนด์ก็ยังคงไม่อนุมัติเห็นชอบ

ส่วนจีนกับเนเธอร์แลนด์เองก็ยังคงไม่มีการลงนามตกลงระหว่างกันในเรื่องนี้แต่อย่างใด หนทางในการติดตามคืนจึงอาจผ่านการตกลงทางการทูต การซื้อคืนหรือการบริจาค ดังนั้น ภารกิจในการติดตามคืนจึงหนักหนาและเป็นหนทางอีกยาวไกล

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040