สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐของเงินด่องเวียดนามให้ต่ำลง 1% โดย 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกเปลี่ยน 21,673 ด่อง นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางเวียดนามเจตนาปรับลดค่าเงินด่อง ทว่ามาตรการนี้สามารถกระตุ้นการส่งออกและผ่อนคลายแรงกดดันที่เศรษฐกิจชะลอการเติบโตได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม ธนาคารกลางเวียดนามเคยปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงลงมา 1% คือ 1 เหรียญสหรัฐแลกได้ 21,458 ด่อง ตอนนั้น ธนาคารกลางเวียดนามประกาศคำแถลงว่า เพื่อปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนงบประมาณแผ่นดิน มีความรับผิดชอบที่ต้องใช้นโยบายเงินตราที่ยืดหยุ่น ควบคุมสภาพเงินเฟ้อ ประกันเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ต่อจากนี้เพียง 4 เดือนเอง ธนาคารกลางเวียดนามลดค่าเงินด่องอีกครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดาที่ก่อให้เกิดความหวั่นกลัวในตลาดค้าเงินตราต่างชาติและในหมู่นักลงทุน ธนาคารกลางเวียดนามอธิบายต่อการนี้ว่า นี่เป็นการต่อเติมนโยบายรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนไม่ต้องกังวลเกินควร
หลายปีมานี้ เพื่อคลี่คลายแรงกดดันระยะยาวที่เกิดจากสภาพเงินเฟ้อและสภาพการขาดดุลด้านการส่งออก ธนาคารเวียดนามเคยใช้มาตรการปรับลดค่าเงินด่องหลายครั้ง แต่ความเร็วของการลดค่าเงินด่องครั้งที่ผ่านๆ มายังไม่ถึงขั้นพอใจของธนาคารเวียดนาม เพราะเริ่มจากต้นปี 2014 หลายประเทศพัฒนาของยุโรปและญี่ปุ่นปรับค่าเงินตนเองต่ำลงอย่างขนานใหญ่ ส่วนเกาหลีใต้ ไทย อินเดียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเจริญใหม่ทยอยกันใช้นโยบายผ่อนคลายเงินตรา ภายในอาเซียน เวียดนามก็เสียเปรียบด้านการส่งออก แหล่งข่าวแจ้งว่า ในปี 2015 อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.5% ขณะที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งของเวียดนาม ปรับลดค่าเงินตนเอง 5.3% และ 2.6% ตามลำดับ ทำให้ใบสั่งซื้อจากทวีปยุโรปและญี่ปุ่นที่เวียดนามได้รับลดน้อยลงอย่างชัดเจน
สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามแถลงข้อมูลล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนว่า อัตราการเติบโตของการค้ากับต่างชาติของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2015 ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา โดยยอดการส่งออกเป็น 50,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดการนำเข้าเป็น 53,100 ล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า สภาพการขาดดุลการค้าของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้สูงถึง 3,000 ล้านหยวน มองในแง่นี้ สาเหตุที่ปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามเป็นครั้งที่ 2 นี้ คือ กระตุ้นการส่งออกเป็นหลัก และรักษาศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกของเวียดนาม
YIM/FENG