กรุงเทพฯ - เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา นายนิ่ง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้ให้สื่อมวลชนทั้งไทยและจีนเข้าพบ ณ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก เนื่องในโอกาส 40 ปีครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เนื้อหาในการให้สัมภาษณ์นอกจากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศแล้ว ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับด้านอื่นๆ เช่น การค้า-การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว รวมถึงโครงการความร่วมมือด้านรถไฟ สามารถสรุปได้ใจความสำคัญดังนี้
ผู้สื่อข่าว: ปีนี้เป็นปีครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ท่านให้การประเมินของความสัมพันธ์จีน-ไทยไว้อย่างไร และในอนาคตข้างหน้าเห็นว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยควรพัฒนาไปในทางไหน?
ท่านทูต: 40ปีผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้ผ่านการทดสอบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆและกาลเวลา ได้เข้าสู่ช่วงเวลาการพัฒนาใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติ อย่างลุ่มลึกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประการแรก ความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สัมพันธไมตรีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณได้รับการกระชับให้ใกล้ชิดขึ้น ประเทศจีนยืดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ไม่ว่าสถานการณ์ภายในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไง นโยบายของจีนที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทยนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้รับการชื่นชมและยกย่องอย่างสูงจากวงการต่างๆของประเทศไทย จีนพยายามคบหาเพื่อนใหม่และไม่ลืมมิตรเก่า
ประการที่สอง การค้าระหว่างจีน-ไทยพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่สี่ของจีนในประเทศอาเซียน ในช่วงเวลาต้นๆที่จีนกับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ค.ศ. 1975 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับไทยนั้นมีแค่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2014 สูงถึง 72,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 พันเท่า การลงทุนซึ่งกันและกันได้เริ่มจากศูนย์จนถึงทุกวันนี้
ประการที่สาม การไปมาหาสู่กันในภาคเอกชนคึกคักยิ่งขึ้น ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างประชาชนสองประเทศได้มีการยกระดับ เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 2 ล้าน 7 แสนคน ได้เพิ่มขึ้น 1 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ปัจจุบันนี้มีนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนมากกว่า 2 หมื่นคน เป็นจำนวนมากที่สุดในนักศึกษาของประเทศอาเซียนที่ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ประเทศจีนก็เป็นแหล่งนักศึกษาต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไทย ส่วนนักศึกษาจีนที่เรียนในประเทศไทยนั้นก็มีจำนวนมากกว่า 2 หมื่นคนเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าว: หลายปีที่ผ่านมา ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทยนั้นได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีบริษัทจีนมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อยากทราบคำแนะนำสำหรับการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสองประเทศและการดำเนินกิจการของบริษัทจีนในประเทศไทยในอนาคตประเทศจีนมีความคิดและมาตรการอะไรบ้างในการช่วยการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย
ท่านทูต: ปัจจุบันนี้ ประเทศจีนได้เปลี่ยนนโยบายจากดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก มาเป็นดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและไปลงทุนในต่างประเทศสำคัญเท่ากัน ณ ตอนนี้ มีบริษัทจีนลงทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมบริษัทจีนประจำประเทศไทย 160 บริษัทซึ่งครอบคลุมในทุกสาขา
ประการแรก ควรร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ไทยมีความต้องการและจีนมีข้อได้เปรียบ อาทิ เครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง รถบัสรุ่นใหม่
ประการที่สอง พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าโดยการเผาผลาญขยะ
ประการที่สาม พัฒนาความร่วมมือในการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร เช่น ยางพารา
ประการที่สี่ พัฒนาความร่วมมือเทคโนโลยีสูง ทั้งสองฝ่ายควรขยายและพัฒนาความร่วมมือทางด้านดาวเทียมการสื่อสารและรีโมทเซนซิง ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G
ประการที่ห้า เพิ่มความร่วมมือด้านการเงิน ส่งเสริมให้บริษัทของทั้งสองประเทศใช้เงินตราของประเทศทั้งสองในการชำระและลงทุนซึ่งกันและกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่มาจากอัตราแลกเปลี่ยนและลดต้นทุน
ผู้สื่อข่าว: อยากทราบความคืบหน้าของความร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างจีน-ไทย ข้อดีที่จีนร่วมมือกับไทยมีอะไรบ้าง
ท่านทูต: ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาหลายครั้ง ความร่วมมือรถไฟระหว่างจีน-ไทยนั้นมีความคืบหน้าอย่างดี คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางรถไฟระหว่างสองประเทศได้จัดการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง และได้คุยถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของความร่วมมือ
รัฐบาลจีนยินดีที่จะเข้าร่วมในการพัฒนาระบบรถไฟของไทย ซึ่งจุดยืนนี้ชัดเจนมาก ตั้งแต่โครงการนี้ได้ริเริ่ม ฝ่ายจีนก็ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนฝ่ายไทยในด้านเงินทุน เทคโนโลยีและการอบรมบุคลากร ปัจจุบันนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือในการร่วมสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-แก่นคอย-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมนั้นได้จัดมาแล้ว 4 ครั้ง และครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นในประเทศไทยในสิ้นเดือนมิถุนายน ทั้งสองฝ่ายได้มีความเห็นพ้องต้องกันในโครงสร้างของการดำเนินโครงการ แผนการก่อสร้างและรูปแบบความร่วมมือ ได้เริ่มการศึกษาความเป็นไปได้และมีความคืบหน้าในเชิงบวก
เรื่องรูปแบบการระดมทุนยังไม่ได้ทำการตกลงกัน ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือ ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงการ โครงสร้างการระดมทุนนั้นจัดมีการหารือและตกลงกันอีกทีในเมื่อการศึกษาความเป็นไปได้เสร็จสิ้นลง ซึ่งก็หมายความว่า รายงานการศึกษาความเป็นไปได้นั้น จะพิจารณาการออกแบบ การวางแผน ความยาว อุปกรณ์เสริม ราคาการก่อสร้าง ฯลฯ ของรถไฟดังกล่าวให้แน่ชัด และโดยบนพื้นฐานนี้ จะมาหารือกันอีกทีว่าทั้งสองฝ่ายต่างจะลงทุนเท่าไหร่
ในเรื่องที่ว่าจีนมีข้อได้เปรียบอย่างไรบ้างในการพัฒนาการสร้างรถไฟเส้นนี้ ขอเรียนอย่างสั้นๆว่า ถึงแม้ว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่น แต่ในเวลาอันไม่นานนัก จีนได้เรียนรู้ ศึกษาเทคโนโลยีรถฟ้าความเร็วสูง และประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เป็นเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีความซับซ้อนทางภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศ ประเทศจีนได้ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ สร้างเครือข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของโลกขึ้นมาโดยใช้เวลาสั้นที่สุด ทุกวันนี้รถไฟของจีนที่เปิดสัญจรอยู่มากกว่า 1 แสนกิโลเมตร โดยในนั้นมีรางรถไฟความเร็วสูง 1 หมื่น 6 พันกิโลเมตร ซึ่งเป็น60 % ของระยะทางรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก
ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ ฝ่ายจีนได้เปิดทางให้ฝ่ายไทยเพื่อเข้าถึงการก่อสร้าง เทคโนโลยี การบริหารจัดการของการเดินรถ รวมทั้งประสบการณ์ของรถไฟจีนอย่างทั่วถึง ทางจีนยินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในกับฝ่ายไทยตามความต้องการของประเทศไทย ช่วยอบรมบุคลากรทางด้านรถไฟของไทย และก็จะพิจารณาให้ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยที่มีความพร้อมมาร่วมมือสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้
ผู้สื่อข่าว: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ท่านคิดว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีน "One Belt, One Road" มีจุดเชื่อมต่อกันอย่างไร ประเทศจีนและประเทศไทยมีความร่วมมือในด้าน "One Belt, One Road"อย่างไร การที่จีนกับไทยมีความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปอีกขั้นจะมีส่วนช่วยให้จีนเชื่อมต่อกับอาเซียนได้อย่างไร
ท่านทูต: รัฐบาลจีนได้เสนอพัฒนาแนวเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 นั้น มีวัตถุประสงค์ต้องการให้เกิดการเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์กับประเทศรอบด้าน สร้างระเบียงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับสากลและระเบียงความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพสูง
ประเทศไทยเชื่อมต่อประเทศอาเซียนทางบกและทางทะเล เป็นจุดเชื่อมอย่างธรรมชาติสำหรับตลาดใหญ่อาเซียนที่มีประชากร 6 ร้อยล้านคน มีข้อได้เปรียบทางภูมิประเทศและมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน มีศักยภาพอย่างสูงในการผลักดันพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ด้านประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายรถไฟและทางหลวง สร้างใหม่และขยายท่าเรือ เพิ่มเที่ยวบินใหม่ เพื่อยกฐานะของตนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและความเชื่อมโยงกันของภูมิภาค ความร่วมมือทางด้านรถไฟระหว่างจีนกับไทยนั้น ก็เป็นโครงการสำคัญที่สองประเทศร่วมกันพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ "One Belt, One Road"
ผู้สื่อข่าว: ประเทศจีนได้กลายเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย นักท่องเทียวจีนได้นำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย แต่ก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวจีนบางคนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนไทยและสื่อมวลชนไทย ท่านมีความเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ และมีคำแนะนำอย่างไรกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ท่านทูต: ประเทศจีนได้เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยติดต่อกันมาหลายปี ได้สร้างประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวในไทย 4 ล้าน 6 แสนกว่าคน ในจำนวนคนมากขนาดนี้ แต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี การสื่อสารอาจไม่คล่อง ระดับการศึกษาก็ไม่เหมือนกัน ทำให้มีพฤติกรรมที่ไมเหมาะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอย้ำว่า นี่เป็นเหตุการณ์ส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ทั้งหมดของนักท่องเที่ยวจีน
เราได้จัดทำคู่มือที่แนะนำวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและกฎหมายของไทย เพื่อแจกให้กับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อให้เคารพประเพณีไทย ปฏิบัติตามกฎหมายไทย
หวังว่าหน่วยงานที่ดูแลการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น จะทำงานมากขึ้นในการรักษาสิทธิประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของนักท่องเที่ยวจีน ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญและพฤติกรรมที่หลอกลวงนักท่องเที่ยวจีนหรือบังคับซื้อของ จัดเตรียมความพร้อมสำหรับมัคคุเทศก์ที่พูดภาษาจีนได้และแก้ปัญหามัคคุเทศก์พูดภาษาจีนไม่เก่งเพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนได้รับการบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
ผู้สื่อข่าว: อย่างที่ทราบกันดีว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากลที่สำคัญของภูมิภาค ฝ่ายจีนจะพัฒนาแม่น้ำโขงให้กลายเป็นแม่น้ำสายเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆและคลายความกังวลใจให้กับประเทศที่อยู่ปลายแม่น้ำโขง
ท่านทูต: จีนยินดีที่จะหารือและประสานกันอย่างใกล้ชิดโดยผ่านกลไกความร่วมมือในอนุภูมิภาค อาทิคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือกลไกการหารือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บางคนบอกว่า การที่จีนได้สร้างเขื่อนเก็บน้ำในช่วงตอนบนของแม่น้ำโขงนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำในช่วงปลายแม่น้ำ จีนขอย้ำว่าการสร้างเขื่อนในตอนบนนั้น ไม่ได้จะเอาน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก แต่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำ แต่หากยังมีประโยชน์ต่อการปรับปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝนและหน้าแล้งอีกด้วย
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿