วันที่ 2 กันยายนปีนี้ เป็นวันครบรอบ 70 ปีญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนในสงครามอย่างเป็นทางการ และวันครบรอบ 70 ปีชัยชนะสงครามต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานของประชาชนจีนและชัยชนะสงครามต่อต้านฟาสซิสต์ของโลก ในขณะที่จีนตลอดจนทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองรำลึกชัยชนะสงคราม ก็ได้ทบทวนถึงภัยพิบัติที่สงครามนำมาให้กับสังคมมนุษย์ด้วย เพื่อจดจำประวัติศาสตร์ไว้ในใจ คำนึงถึงสันติภาพให้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางสถานีวิทยุซีอาร์ไอได้รายงานข่าวพิเศษในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่อาจลืม" เพื่อเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในสถานะเป็นประเทศอาณานิคมและประเทศกึ่งอาณานิคม ขณะนั้น ทั้งจีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนเป็นประเทศที่ยากจนและอ่อนแอ ได้รับการรุกรานและการกดขี่จากลัทธิทหารของญี่ปุ่น มีชะตากรรมร่วมกันทำให้จีนกับบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อวันที่ 18 กันยายนค.ศ. 1931 ประเทศจีนเป็นผู้เปิดฉากสงครามต่อต้านฟาสซิสต์ขึ้น ได้เปิดสนามรบทางตะวันออกในสงครามต่อต้านฟาสซิสต์ของโลก มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเอาชนะญี่ปุ่นและลัทธิฟาสซิสต์ จีนได้ส่งกองทัพเดินทางไกลไปยังประเทศพม่าสองครั้งเพื่อโจมตีกองทัพญี่ปุ่น กองกำลังอากาศจีนที่สังกัดทีมทหารอากาศร่วมระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้ทำสงครามบนอากาศในประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว เป็นต้น โจมตีรถถังและเครื่องบินข้าศึก ในที่สุด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
จีนและอาเซียนมีความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์และภาระหน้าที่ร่วมกันในการผดุงสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาค นายจาง เสียว์กัง ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีนเห็นว่า การเฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปีแห่งชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความหมายสำคัญในยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน ทั้งจีนและอาเซียนต่างเป็นเสาหลักในการพิทักษ์รักษาสันติภาพของโลกและของเอเชียตะวันออก จีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้เดินทางร่วมกันบนหนทางพัฒนาอย่างสันติ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญซึ่งกันและกันในการพิทักษ์รักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
Yim/Zi