มณฑลหูหนานเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ตอนที่ 2) 2
  2015-12-03 16:59:27  cri

การพัฒนาสังคมให้เป็นแบบประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นลักษณะพิเศษของยุคความฝันจีน ถึงปลายปี 2014 มณฑลหูหนานมีการสร้างโรงงานกำจัดน้ำเสีย 139 แห่ง อัตราการกำจัดน้ำเสียเท่ากับ 89.9 และมีลานกำจัดขยะไม่อันตราย 115 แห่ง อัตรากำจัดขยะไม่อันตรายจากชุมชนเท่ากับ 99.69%

เมืองฉางเต๋อในปัจจุบันได้ก้าวย่างตามยุคสมัยอย่างกระชั้นชิด โดยได้ตั้งโครงการทดลองบำบัดน้ำเสียจากชุมชนที่ใช้วัสดุนำเข้าจากเยอรมนี ภายใต้แนวคิด "เมืองแห่งฟองน้ำ" กล่าวคือ จะดูดกักน้ำเสียจากชุมชน หรือน้ำฝนที่ตกลงมาจะผ่านระบบดูดน้ำเอาไว้ และค่อยๆ ผ่านระบบบำบัด แล้วค่อยๆ ระบายออกมา ซึ่งในเมืองมีจุดทดลองกำจัดน้ำเสียทั้งสิ้น แปดจุด และถือว่าประสบความสำเร็จสามารถกำจัดน้ำเสียที่ดูดกักไว้ได้ถึงเกือบร้อยละเก้าสิบ

ทะเลสาบหลิ่วเย่ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองฉางเต๋อ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่จะเป็นหน้าเป็นตาของเมืองฉางเต๋อ ต่อจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแดนดอกท้อ "ถาวฮวาหยวน" ซึ่งการพัฒนาบริเวณรอบทะเลสาบหลิ่วเย่เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1993 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 175 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำ 21.8 ตารางกิโลเมตรซึ่งใหญ่กว่าทะเลสาบซีหูของเมืองหังโจวประมาณ 4 เท่า และประกอบด้วยสี่ส่วนสำคัญ ได้แก่ ทะเลสาบหลิ่วเย่หู โลกสวนน้ำมหาสนุก สะพานทัศนียภาพ ทางวิ่งมาราธอนรอบทะเลสาบ ชายหาด เป็นต้น

การบรรลุเป้าหมายพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุปสรรคสำคัญสุดดูเหมือนจะเป็นความขัดกันระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาระบบนิเวศ แต่ที่จริงแล้วสามารถพูดได้ว่าทั้งสองอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ เพราะถ้ามุ่งแต่พัฒนาไม่รักษาสภาพแวดล้อมทางนิเวศ ท้ายที่สุดแล้วมีแต่จะฉุดให้การพัฒนาล่าช้าลง แต่หากมุ่งรักษาเพียงอย่างเดียวไม่พัฒนาให้ดีขึ้นเลย ก็มีแต่จะตกต่ำยากจนลงไปทุกวัน สุดท้ายก็กระทบต่อการรักษาอีกเช่นกัน ดังนั้น การสร้างเขตเศรษฐกิจเชิงนิเวศทะเลสาบต้งถิงหู จึงให้ความสำคัญกับการนำความได้เปรียบด้านระบบนิเวศผันแปรเป็นความได้เปรียบด้านการพัฒนา

อย่างที่เคยเอ่ยถึงว่า ทะเลสาบต้งถิงหูเป็นทะเลสาบน้ำจืดแหล่งสำคัญใหญ่อันดับ 2 ของจีน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมณฑลหูหนาน โดยเรียกแบ่งย่อยตามทิศที่ตั้งออกเป็น ต้งถิงหูตะวันตก(เมืองฉางเต๋อ) ต้งถิงหูใต้(เมืองอี้หยาง) และต้งถิงหูตะวันออก(เมืองเย่ว์หยาง)

ทะเลสาบต้งถิงหูยังมีความสมบูรณ์หลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ทุกปีช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคมปีถัดไป จะมีนกที่อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองกว่า 200 ชนิดบินหนีหนาวมาที่นี่นับ 10 ล้านตัว จนได้รับฉายาว่าเป็น "แดนสวรรค์ของนก" ซึ่งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติทะเลสาบต้งถิงหูตะวันออกตั้งขึ้นในปี 1982 ต่อมาได้ยกระดับเป็นเขตอนุรักษ์ระดับชาติในปี 1994 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 190,000 เฮกตาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 8 ของเมืองเย่ว์หยาง

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและพบว่าในเขตอนุรักษ์มีนก 338 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 อย่างนกกระเรียนขาว อยู่ 7 ชนิด ที่ได้รับการคุ้มครองประเภทที่ 2 อย่างเป็ดแมนดาริน 45 ชนิด ส่วนปลาน้ำจืดมี 117 ชนิด พืชป่าและพืชที่เพาะปลูกมี 1,186 ชนิด ซึ่งเขตอนุรักษ์นี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของกวางเดวิด (Elaphurus davidianus) สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ของจีน รวมถึงโลมาหัวบาตรหลังเรียบ(Neophocaena)

โดยนับตั้งแต่ปี 2002 เขตอนุรักษ์ระดับชาติแห่งนี้ได้จัดงาน "เทศกาลชมนกทะเลสาบต้งถิงหู" ในช่วงระหว่างกุมภาพันธ์-มีนาคม ดึงดูดนักปักษาศาสตร์ และนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ทั่วโลกนับพันนับหมื่นคนเดินทางมาเที่ยวชมเป็นประจำทุกปี ทำให้เมืองเย่ว์หยางได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองแห่งการชมนกของจีน"

แต่เนื่องจากในช่วงหลังนี้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำให้ปัญหาทางนิเวศวิทยาของทะเลสาบต้งถิงหูมีความรุนแรงชัดเจนขึ้น คุณภาพน้ำย่ำแย่ลง นับจากปี 2000 เป็นต้นมา มีปริมาณฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งให้เกิดผลดังกล่าว ส่วนหนึ่งเนื่องจากปากแม่น้ำแยงซีสามแห่งมีน้ำไหลเวียนลดน้อยลง และทะเลสาบต้งถิงหูเองก็มีขนาดและปริมาณน้ำที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย ทำให้ความสามารถในการฟอกตัวเองของน้ำลดระดับลง ปริมาณความเข้มข้นของสารละลายจึงเพิ่มสูงขึ้น อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นมลภาวะ ทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสและไนโตรเจนมีอัตราสูงเกินกว่า 70 %

ปัญหามลภาวะทางน้ำในเขตทะเลสาบต้งถิงหูดังกล่าว ได้รับความสนใจจากทางการจีนอย่างสูง ได้มีการส่งคณะวิจัยมาทำการศึกษาและตรวจสอบอย่างจริงจัง พร้อมออกมาตรการบำบัดเพื่อฟื้นฟูแล้ว โดยมีการก่อสร้างด้านชลประทานทำการชักน้ำผันน้ำ ใช้เรือขุดลอกแม่น้ำและทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีการเชื่อมถึง และที่สำคัญคือ ป้องกันแก้ไขปัญหามลภาวะจากพื้นที่ภาคเกษตรกรรม

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040