สัมมนา"อนาคตความสัมพันธ์จีน-ไทย ภายใต้เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21"
  2015-12-22 16:43:32  cri

กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ธนาคารกรุงเทพร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนและสภาธุรกิจจีน-อาเซียน จัดงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ภายใต้หัวข้อ "อนาคตความสัมพันธ์จีน-ไทย ภายใต้เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21" ณ โรงแรมแชงกรีล่า ถนนเจริญกรุง

เส้นทางสายไหมทางทะเลใหม่นั้นประกอบด้วย ถนน ท่าเรือ ทางรถไฟ และโครงการด้านพลังงานต่างๆ โดยประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งด้านลงทุนจากต่างประเทศและโอกาสที่เปิดกว้างจากการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงแต่ก็ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ทำให้โอกาสในการขยายการลงทุนจากนักลงทุนจีนไปยังประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจยังมีอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยที่จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวในการปาฐกถาว่า หัวข้อเรื่อง "เส้นทางสายไหมทางทะเลและหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เส้นทางสายไหมทางทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าคนในอดีตมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สำหรับเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เราต้องหาทางใช้ประโยชน์ต่างๆให้ได้สูงที่สุด จากการลงทุนลงแรงในโครงการความร่วมมือน้อยใหญ่ นโยบายการพัฒนานั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์แต่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งแต่จะอำนวยความสะดวกแก่ประเทศอื่นๆรอบข้างด้วย อย่างประเทศไทยไม่ได้อยู่ได้เฉพาะตัวเอง เราจำเป็นต้องอาศัยและพึ่งพาเพื่อนๆจากประเทศอื่นด้วย

ด้านนาย นิ่งฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยกล่าวว่า จุดสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือ ต้องกำหนดแนวทางการพัฒนา อย่างประเทศจีนเพิ่งมีการประชุมกำหนดแผนการพัฒนาฯฉบับที่ 13 มีระยะเวลา 5 ปี เนื้อหาในนั้นเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับ 5 ปีข้างหน้าซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อวิธีการพัฒนาของประเทศจีน เน้นหนักเรื่องการสร้างสิ่งใหม่อย่างสมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดประเทศ และการแบ่งปัน จีนยังคงยืนหยัดยุทธศาสตร์ว่าด้วยการสร้างสิ่งใหม่ๆ เกษตรทันสมัย การพัฒนาเพื่อพัฒนาชาติ จีนมีจุดเติบโตใหม่หลายอุตสาหกรรม เช่น ไอที อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทนและเน้นให้คนจีนเปิดกิจการของตัวเองมากขึ้นจากเมื่อก่อนที่เคยชูจุดเด่นเรื่องทรัพยากรและต้นทุนแรงงานต่ำ ล่าสุดการค้าแบบอีคอมเมิรซ์ได้กลายมามีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดในประเทศ จีนตั้งเป้าเพิ่มจำนวนประชากรในเมืองที่ได้รับสำมะโนครัว ยกระดับความยากจน และผลักดันการขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ การขยายความร่วมมือแบบ win-win และกำลังเริ่มทดลงนโยบายลดพื้นที่การเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้จีนจะมีความร่วมมือทางด้านการเกษตรทั้งการวิจัย การผลิตผลผลิตกับเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้คิดว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยได้เป็นอย่างดี

นายสวี่ หนิงหนิง เลขาธิการสภาธุรกิจจีน-อาเซียน ให้ความเห็นว่าการที่จะผลักดันเศรษฐกิจในแถบอาเซียนให้รุดหน้าได้นั้น ประเทศในกลุ่มต้องมีความสามัคคีกันและร่วมมือกับประเทศอื่นซึ่งรวมถึงจีนซึ่งนับเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและร่วมกันเปิดตลาดเสรี รัฐวิสาหกิจควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจกับการเปิดตลาดและโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยมีโอกาสในอุตสาหกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ยางพารา" ที่ไทยและจีนมีความร่วมมือกันในด้านงานวิจัย ผลิต และส่งออก นักธุรกิจชาวจีนสนใจตลาดอาเซียนมากแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในตลาดอย่างถ่องแท้ ไม่มีความรู้เรื่องระบบ สายสัมพันธ์ ข้อมูลต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนได้โดยการจัดหาคู่ค้าที่เหมาะสมให้เพื่อช่วยเหลือกัน หากมีโอกาสก็อยากเชิญกลุ่มบริษัทในไทยไปแนะนำตัวและทำความรู้จักกับนักธุรกิจที่จีนเพื่อจะได้กระชับความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือทางธุรกิจต่อไป

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040