แวะพักทักลั่วหยาง(7) กับความต่างแห่งความคับคั่ง
  2016-05-03 18:39:46  cri

แม้ชาวลั่วหยางจะบอกว่าพิธีเปิดเทศกาลโบตั๋นปีนี้ ไม่มีงบจัดงานเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ค่ำวันจันทร์ที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา พิธีเปิดงานชมโบตั๋นลั่วหยางปี 2016 จัดขึ้นที่บริเวณลานกว้างด้านหน้า "พิพิธภัณฑ์ซากประตูเมืองโบราณติ้งติ่งเหมิน (定鼎门遗址博物馆)" ส่งให้พิธีเปิดยังคงดูอลังการงานสร้างเป็นที่ตื่นตาประทับใจผู้ชม เนื่องจากมีประตูเมืองโบราณเป็นฉากหลัง โดย "ประตูเมืองติ้งติ่งเหมิน" นี้สร้างจำลองตามภาพลักษณ์ในอดีตสมัยราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907)

ร่องรอยความคับคั่งจอแจในอดีตที่บริเวณหน้าประตูเมืองติ้งติ่งเหมิน

หลักฐานความเป็น "ต้นกำเนิดเส้นทางสายไหมแห่งจงหยวน" ของลั่วหยาง

เมื่อค.ศ. 2007 พร้อมกับที่มีการค้นพบซากประตูเมืองติ้งติ่งเหมิน พื้นที่บริเวณด้านหน้าประตูเมืองขนาดกว้างประมาณ 90 เมตรพบร่องรอยของล้อรถ รอยเท้าคนและสัตว์ปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งรอยเท้าของสัตว์บางรอยมีขนาดใหญ่มาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 ซม. ที่ไม่ใช่ทั้งของม้าและวัว…

ต่อมาจึงสรุปลงตัวได้ว่านี่เป็นรอยเท้าของอูฐ! นับเป็นหลักฐานแสดงถึงความคึกคักและเจริญรุ่งเรืองในอดีตของเมืองหลวงเก่าลั่วหยาง ที่มีชาวต่างแดนจูงอูฐมาติดต่อค้าขายและผ่านเข้าออกประตูเมืองอย่างพลุกพล่าน ซึ่งผลงานศิลปะถังซานไฉ่(เครื่องเคลือบดินเผา 3 สีสมัยถัง) มีการขุดพบมากและแรกสุดที่ลั่วหยางด้วย ดังนั้น ลั่วหยางจึงมีอีกสมญานามหนึ่งว่า "แดนดินแห่งต้นกำเนิดเส้นทางสายไหม"

ประตูเมืองติ้งติ่งเหมินจำลองได้สร้างขึ้นครอบซากประตูเมืองโบราณเก่าที่สร้างขึ้นในค.ศ. 605 สมัยราชวงศ์สุย(ค.ศ. 581 – 618) ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเรียกว่า "ประตูเจี้ยนกั๋วเหมิน" พอถึงสมัยถังจักรพรรดิถังไท่จงทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ติ้งติ่งเหมิน" โดยเป็นประตูเมืองชั้นนอกด้านใต้ ที่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างแนวแกนกลางสำคัญของเมืองหลวงทั้งสมัยสุยและถัง สร้างในลักษณะ "1 ประตู 2 หอ" โดยที่หอทั้งสองเรียงตัวขนานและอยู่ในแนวเดียวกับประตูเมือง นับเป็นความพิเศษเพียงหนึ่งเดียวที่แตกต่างไปจากหอประตูอื่นในยุคสุยและถัง (ใกล้กับสถานีรถไฟหลงเหมิน ค่าเข้าชม 30 หยวน เปิดเวลา 9.00-17.00น. ปิดทุกวันจันทร์)

ที่ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ยังเป็นที่จัดแสดงผังเมืองหลวงในอดีตของลั่วหยาง ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนถึงตำแหน่งที่ตั้งของแม่น้ำอีเหอที่ไหลผ่าหุบเขาหลงเหมินออกเป็นสองข้าง และได้กลายมาเป็นที่สร้างสรรค์งานแกะสลักถ้ำหินอันเลื่องชื่อ "ถ้ำหินหลงเหมิน"

ถ้ำหินหลงเหมิน (龙门石窟) เมืองลั่วหยาง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งช่องและถ้ำหินที่เรียงรายบนกำแพงผาหินริมสองฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำอีเหอ มีผลงานแกะสลักพระพุทธรูปหินตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ(ค.ศ. 386 - 534) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ถัง(ค.ศ. 618-907) โดยพระพุทธรูป "ชูสองนิ้ว" เป็นอีกหนึ่งจุดที่ผู้คนหยุดถ่ายรูปกันอย่างคึกคัก!

"ถ้ำปินหยาง (宾阳洞)" เป็นชื่อเรียกกลุ่มถ้ำที่ได้ชื่อว่า เป็นตัวแทนผลงานความวิจิตรบรรจงทางพุทธศิลป์สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ โดยประกอบด้วยถ้ำหิน 3 ถ้ำตั้งชื่อเรียกตามตำแหน่งที่ตั้งว่า ถ้ำปินหยางใต้ ปินหยางกลาง และปินหยางเหนือ ซึ่งปีหลังๆ นี้ "ถ้ำปินหยางเหนือ" นับเป็นจุดพิเศษจุดแรกที่นักท่องเที่ยวจีนแวะชมและถ่ายรูปกันมากสุดก็ว่าได้ เนื่องจากองค์พระประธานในถ้ำนี้ มีลักษณะพิเศษตรงที่ทรงยกพระหัตถ์ขวาในลักษณะเหมือนกับกำลัง "ชูสองนิ้ว" ท่านิยมพื้นฐานเวลาถ่ายรูปในปัจจุบัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดจากนิ้วทั้งสองแยกห่างกันไปหน่อยเท่านั้น เพราะท่วงท่าดังกล่าวแท้จริงแล้ว เป็นลักษณะหนึ่งทางพุทธศิลป์ที่ต้องการถ่ายทอดถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าต่างหาก 

แวะพักทักลั่วหยาง โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040