บทสัมภาษณ์รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์นกับการประชุมสุดยอดอาเซียน 2016
  2016-09-07 17:15:06  cri

ผู้สื่อข่าว: ปีนี้ ความสัมพันธ์คู่เจรจาระหว่างจีนกับอาเซียนครบ 25 ปีแล้ว ถ้าเปรียบเป็นคนก็คงโตเป็นหนุ่มที่มีพลัง อาจารย์คิดว่าการประชุมครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจจีนกับอาเซียนได้อย่างไร

รศ.ดร.อักษรศรี: 25ปีนะคะ น่าจะมีอะไรพิเศษหน่อยค่ะ เรื่องความสัมพันธ์จีน-อาเซียนดิฉันขอเรียนอย่างนี้ดีกว่า จีนมีโครงการOne Belt One Road และก่อนหน้าที่จีนจะริเริ่มโครงการ ก่อนปี 2015 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนคึกคักมาก เป็นการขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงปี 2010 ที่เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ยุคทอง หลังจากปี 2013 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงให้ยกระดับสูงขึ้นเป็นยุคเพชรหรือ diamond decade แต่เศรษฐกิจโลก รวมทั้งการค้าและการลงทุน ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-อาเซียนค่อยๆ โตน้อยลง จนถึงขั้นติดลบ ฉะนั้น ปี 2014 กับปี 2015 มันจะไม่ค่อยสวยเท่าไร ส่วนโครงการอีไต้อีหลู่(One Belt One Road) เป็นกรอบใหญ่ที่จีนจับความร่วมมือกับโลก ไม่ใช่มองแต่ 10 ประเทศอาเซียนอย่างเดียว แต่จีนมองไกลมองกว้าง จนถึงครอบคลุมแนวเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล

ผู้สื่อข่าว: นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เคยกล่าวว่า จะเพิ่มจุดเติบโตสำคัญใหม่คือเน้นการศึกษาและการท่องเที่ยวเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน อาจารย์คิดว่าการศึกษาและการท่องเที่ยวมีหวังจะขยายความร่วมมือในด้านไหนบ้าง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถนัดเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว

ดิฉันมองว่าตรงนี้ดีค่ะ และก็โดดเด่น เพราะว่าจะมาพูดแต่เรื่องการค้าแบบเดิมๆ การค้าสินค้าแบบเดิมๆ หรือจะเน้นเรื่องวัตถุดิบคงไม่ใช่แล้ว น่าจะหันมาเน้นเรื่องการค้าบริการระหว่างกัน ขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีของประเทศไทย ถ้าเราดูความสัมพันธ์เรื่องการค้าไทย-จีน จะเห็นว่ามันลดลง หรือจะติดลบ จีนก็จะหล่นจากการเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย มาอยู่อันดับ 2 แพ้สหรัฐฯ ด้วย ฉะนั้นจะมองเรื่องการค้าสินค้าเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เรื่องเน้นการท่องเที่ยวมันเหมาะสม เพราะจีนมีความสำคัญพอสมควรกับไทยในด้านการท่องเที่ยว จีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย ปี 2014 มีนักท่องเที่ยวจีน 8 ล้านคน ปีนี้น่าจะถึง 10 ล้านคน ในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนนี้ จีนมีสัดส่วนมาก ตกเป็น 27-29% ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปีที่แล้วมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยค่ะ แม้ว่าจะมีปัญหาในหลายด้าน เรื่องพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนหรือด้านลบอะไรบางอย่าง แต่ในภาพใหญ่ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย สร้างคุณูปการในเชิงรายได้และเศรษฐกิจของพวกเราในอาเซียน

ในด้านการศึกษาก็เช่นกันค่ะ เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด คนไทยเองให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาจีน ให้ความสำคัญกับการไปเรียนที่ประเทศอื่น คนไทยที่ไปเป็นนักศึกษาในจีนรู้สึกติดอันดับ 3 ของประเทศจีน ดิฉันคิดว่าการท่องเที่ยวและการศึกษาเป็นเรื่องที่ควรให้การสนับสนุน จริงๆ ถ้ากลับมาถึงเรื่องการท่องเที่ยว มันสามารถสร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจท้องถิ่นของประเทศไทยด้วย เวลามีนักท่องเที่ยวเข้าไปถึงแต่ละพื้นที่ จังหวัดโน้น เมืองนี้ ตำบลนั้น ไปเที่ยวทะเลที่โน่นที่นี่ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสรับประโยชน์จากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ว่าทั้งหมดนี้ต้องบริหารจัดการว่าทำอย่างไรจะให้โอกาสเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย

ผู้สื่อข่าว: แน่นนอนว่าไทยสนับสนุนการขยายความร่วมมือภายในอาเซียน แต่อาจารย์มองว่าทิศทางไหนที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศนำร่องการกระชับความร่วมมือในกรอบ RCEP

รศ.ดร.อักษรศรี: RCEP แท้ที่จริงแล้วก็เป็น FTA อย่างหนึ่ง แต่เป็นกรอบใหญ่ เพราะประเทศที่เข้าร่วม RCEP นอกจากอาเซียนและจีนแล้ว ยังมีเพื่อนอีก 4 ประเทศ ฉะนั้นเราจะมีสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ซึ่งเป็นอาเซียนบวกหก คืออาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ เราเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ด้านพลังคน ประชากรจำนวนมาก เป็นอันดับหนึ่งของโลก ฉะนั้นกลุ่ม RCEP เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แม้กระทั่งเศรษฐกิจ เรามีจีน ญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศชั้นนำ แต่มีปัญหาคือการเจรจา RCEP ขับเคลื่อนช้า เพราะมีขนาดใหญ่ มีประเทศเข้าร่วม 16 ประเทศ ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นพลังที่ใหญ่มาก

ผู้สื่อข่าว:อาจารย์คิดว่าภาครัฐควรจะกำหนดแนวทางความร่วมมือในด้านไหนบ้าง และภาคเอกชนควรจะร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิตอย่างไร

รศ.ดร.อักษรศรี: ขอลงไปที่ภาคเอกชนก่อน คือสิ่งหนึ่งที่ภาคเอกชนของไทยต้องทำคือ แม้ว่าทำแล้วแต่ก็ต้องทำต่อคือเรื่องของการปรับตัว การปรับปรุงคุณภาพ ประเทศไทยของเราในตอนนี้มียุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ไม่ใช่การผลิตสินค้ายาพาราส่งออกเหมือนเดิมแล้ว ไม่ใช่ส่งออกทุเรียน เราต้องมีการวิจัยและนวัตกรรม ทำสินค้าพื้นบ้านให้เป็นสินค้าสร้างสรรค์ คิดว่านี่จะเป็นโอกาส ภาคเอกชนต้องทำงานหนัก ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา พวกเขามีศักยภาพการออกแบบผลิตภัณฑ์ประเทศไทยก็ทำเก่ง และเราสามารถมีผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวด้วย จะทำให้เราโดดเด่น คงไม่ใช่ผลิตอิเล็กทรอนิกส์เหมือนมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย แต่หันมาเน้นสินค้าแบรนต์ดีไซน์ เน้นสินค้าที่เราสามารถออกแบบและใช้ความละเอียดอ่อนประณีตและความคิดสร้างสรรค์ของไทย คนเราสามารถเก็บเกี่ยวโอกาสแบบนี้ได้ นี่คือภาคเอกชน ส่วนในเรื่องของภาครัฐ ก็แน่นอนว่า ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ SME ของไทย อาจจะไม่ได้เข้มแข็งมากพอ รัฐก็ต้องมาสร้างาความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย อย่างเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ การให้คำปรึกษาเป็นต้น ถ้าต่างคนต่างทำจะเป็นมีต้นทุนที่สูงมาก แต่ถ้าช่วยกันทำ อย่างเช่นเรื่องกฎหมายและเครื่องหมายทางการค้าและการสนับสนุนพัฒนาสินค้าคุณภาพ ให้มีการทำ innovation คิดว่าภาครัฐควรจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างจริงจัง กลุ่ม start up กลุ่มที่เขาเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040