มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ทำเอาผมยิ้มแก้มปริคือหลังจากมอบทุนการศึกษาแก่เด็ก ๆ ที่อยู่ในความดูแลซีอาร์ไอแล้ว คณาจารย์ได้พาคณะย้ายไปอีกอยู่อีกห้องหนึ่งซึ่งมีเด็ก ๆ นั่งอยู่เต็ม ที่นี่ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศอาเซียนจะต้องออกมาแนะนำตัวและสอนคำทักทายเป็นภาษาของประเทศตัวเอง เชื่อไหมครับ "สวัสดีค่ะ" เป็นคำทักทายเดียวที่น้อง ๆ ทุกคนเปล่งเสียงพร้อมใจกันทั้งที่ผมยังไม่ทันจะลุกจากที่นั่งไปหน้าเวทีเสียด้วยซ้ำ
ตัดภาพมาที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับครับว่าโรงเรียนมัธยมแห่งที่ 2 ไม่อาจเป็นตัวแทนของระบบการศึกษาจีนในชนบทได้อย่างแท้จริง โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีคุณภาพพอ ๆ กับโรงเรียนอนุบาลเสี่ยวฉือเฉียวต่างหากคือภาพสะท้อนระบบการศึกษาจีนในชนบทที่มีให้เห็นดาษดื่น
โรงเรียนอนุบาลเสี่ยวฉือเฉียว ตั้งอยู่ในตำบลสิงหมิง เด็ก ๆ ที่นี่ได้รับการสนับสนุนค่าอาหารจากรัฐบาลครึ่งหนึ่ง หรือเพียงคนละ 800 หยวนต่อปี ส่วนอีกครึ่งทางผู้ปกครองต้องเป็นฝ่ายออก สภาพโรงเรียนในวันที่ไป ผมเข้าใจว่าคงมีการสั่งการให้ไม่มากพิธีหรือมีผักชีโรยหน้า ดังนั้นภาพที่เห็นก็คือภาพที่เป็นอยู่ในทุก ๆ วัน
ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกกับผมว่า "ไม่ใช่เพียงความไม่พร้อมของสถานศึกษาเท่านั้นที่มีผลต่อคุณภาพของเด็ก แต่ค่านิยมที่ยังฝังรากลึกว่าผู้หญิงโตไปต้องออกเรือนมีลูก สุดท้ายก็กลับมาอาศัยอยู่บ้าน คือการ "เลือก" ส่งเสียลูกผู้ชายให้เรียนต่อสูง ๆ ภาวะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมื่อเรามองภาพที่กว้างขึ้นแล้ว สังคมชนบทจีนยังคงห่างไกลจากความเท่าเทียมกัน"
ท่านบอกอีกว่า "สิ่งสำคัญที่เด็กชนบทจีนยังขาดอยู่ ณ ขณะนี้คือครูที่มีคุณธรรมและการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย" ตรงนี้หน่วยงานดูแลการศึกษาเมืองผานเซี่ยนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจครับ และก็คงเห็นว่าคำพูดอย่างหลังของอาจารย์ท่านดูจะเกิดขึ้นจริงได้ไวกว่าจึงได้แบ่งงบประมาณ 100 ล้านหยวนใช้ในการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า
โรงเรียนทั้งสองต่างก็สะท้อนถึงที่มาของรากฐานชีวิตชาวจีนชนบทได้อย่างชัดเจน ช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้ยังคงรอคอยการเติมเต็มอีกมาก ผมเชื่อว่าผ่านความพยายามของผู้หลักผู้ใหญ่ที่คงไม่มีใครอยากเห็นลูกหลานตัวเองเติบโตไปได้เท่ากับหรือแย่กว่าตัวเองนั้น จะผลักดันให้พวกเขาและหลายภาคส่วนกระตือรือร้นลดช่องโหว่นี้ให้แคบลงเรื่อย ๆ ได้ในไม่ช้า