วันที่ 4 เมษายนเป็นวันเช็งเม้งตามจันทรคติของจีนในปีนี้ เป็น 1 ใน 24 ฤดูกาลตามจันทรคติของจีนด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงต้นเดือนเมษายนตามปฏิทินสากล พอถึงช่วงนี้ ครอบครัวส่วนใหญ่ในจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้และทำความสะอาดหลุมศพบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และพากันออกเที่ยว
ปกติ วันเช็งเม้งในประเทศจีน จะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 5 - 20 เมษายน เป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะคลายความหนาวเย็น เริ่มเข้าสู่ช่วงอากาศอุ่นขึ้น มีฝนตกโปรยปรายอากาศสดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใส ช่วงก่อนและหลังวันเช็งเม้ง คนจีนส่วนใหญ่จะไปไหว้สุสานบรรพบุรุษ ในชนบท ลูกๆ หลานๆ ยังจะตัดหญ้าที่สุสาน เติมดินใหม่ๆบนหลุมให้หลุมมีขนาดใหญ่และดูสวยงาม แล้วจุดธูปเทียน วางของเซ่นไหว้ต่างๆ ที่มีทั้งอาหารการกิน ของคาวของหวาน ผลไม้ เหล้า ข่าวของเครื่องใช้ เผากระดาษเงินกระดาษทอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านจีนระบุว่า เทศกาลเช็งเม้งเป็นเทศกาลสำคัญที่มีประวัติศาสตร์มาช้านานของจีน ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยราชวงค์โจว มีความเป็นมากว่า 2,500 ปีแล้ว และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเทศกาลแห่งการแสดงกตัญญูกตเว็ทตาคุณของจีน สืบทอดวัฒนธรรมการกตัญญูรู้คุณของจีนด้วย เพราะการเซ่นไหว้และทำความสะอาดหลุมศพบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะช่วยเตือนให้คนรุ่นหลังรำลึกถึงคุณความดีที่บรรพบุรุษได้ทำไว้
ปัจจุบัน วันเช็งเม้งยังถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดสำคัญประจำปีของจีนด้วย ในช่วงเทศกาลนี้ ผู้คนมักจะเดินทางไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ แล้วพากันไปเที่ยวชมทิวทัศน์ที่สวยงามในช่วงฤดูใบไม้ผลิด้วย
ตามปฏิทินสากล วันเช็งเม้งส่วนใหญ่ตรงกับวันที่ 5 เมษายน แต่ช่วงเวลาสำหรับเทศกาลนี้กำหนดค่อนข้างยาว โดยกำหนดสองแบบ คือ ก่อน 10 วันหลัง 8 วันกับ ก่อน 10 วันหลัง 10 วัน
ถ้าจะพูดถึงเทศกาลเช็งเม้ง ก็ต้องย้อนกลับไปอีกเทศกาลหนึ่งในสมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันได้เลิกไปแล้ว คือเทศกาลหานสือ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของวันเช็งเม้ง
เทศกาลหานสือ(การรับประทานอาหารเย็น) ยังเรียกว่า เทศกาลโสวสือ (การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก) หรือเทศกาลจิ้นเยียน (การห้ามก่อควันไฟ)เป็นต้น ช่วงเวลาของเทศกาลจะห่างจากฤดูหนาว 105 วัน หรือห่างจากเทศกาลเช็งเม้ง 1-2 วัน ในช่วงเทศกาลดังกล่าว จะห้ามก่อไฟ จึงต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเตรียมไว้ก่อนแล้ว หรืออาหารที่เย็นชืด ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเรียกเทศกาล
สำหรับที่มาของวันเช็งเม็ง ถ้าท่านผู้ฟังผู้คนมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ของจีนคงจะรู้จักบุคคลสำคัญท่านหนึ่งชื่อ เจี้ย จื่อทุย ซึ่งเป็นผู้มีเรื่องราวชีวิตเกี่ยวเนื่องกับวันเทศกาลสำคัญนี้ ย้อนไปในสมัยชุน ราว 2,000 กว่าปีก่อน องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้นลี้ภัยออกไปอยู่นอกแคว้นมีชีวิตที่รันทดโดยมีเจี้ย จือทุยติดตามไปดูแลรับใช้ เจี้ย จื่อทุยมีเมตตาขนาดเชือดเนื้อที่ขาของตนให้เป็นอาหารขององค์ชายเพื่อยังชีพ ภายหลังเมื่อองค์ชายเสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นนามจิ้นเหวินกง ก็ได้ทรงตอบแทนขุนนางที่ให้ความช่วยเหลือทุกคนแต่ลืมเจี้ย จื่อทุย และเจี้ย จื่อทุยก็ไม่ได้คิดอะไรและพามารดามาอาศัยอยู่ที่บนภูเขาลูกหนึ่ง ต่อมามีคนกราบบังคมทูลจิ้น เหวินกงถึงเรื่องนี้จึงทำให้ทรงนึกขึ้นได้ และตั้งกระทัยจะตอบแทนบุญคุณเจี้ย จื่อทุยและมารดาให้อยู่อย่างสบายในเมืองด้วยการจัดหาบ้านให้ แต่เจี้ย จื่อทุยปฏิเสธ ในที่สุดฮ่องเต้จิ้น เหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ย จื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่ผลไม่เป็นอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ย จื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนั้นของทุกปี ห้ามก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ยซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน