จีน ---ประเทศที่มีประวัติ 5000 ปี (2a)
  2017-04-18 15:21:13  cri

กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ยคือ เจี๋ย กษัตริย์เจี๋ยปกครองราษฎรด้วยความโหดร้ายทารุณ ถึงขนาดทำโทษด้วยการตัดจมูกตัดเท้า มีการเกณฑ์แรงงานราษฎรเพื่อสร้างพระราชวังและพลับพลาที่ประทับสำหรับเสพย์สุขสำราญส่วนพระองค์ กษัตริย์เจี๋ยโปรดปรานทำสงครามกับชนเผ่าต่างๆ เพื่อปล้นสะดมของมีค่าและหญิงสาว ขุนนางที่กล้าทูลทัดทานก็ถูกตัดหัวเอาง่ายๆ ผลที่สุด ซางทาง หัวหน้าผู้ปกครองเขต "ซาง" ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ยได้ก่อกบฏขึ้น โดยระดมกำลังจากชนเผ่าต่างๆ เพื่อทำการสู้รบกับกองทัพของกษัตริย์เจี๋ย การสู้รบกระทำกันที่มณฑลเหอหนานภาคกลางของจีน กองทัพของ ซางทาง เป็นฝ่ายชนะ ส่วนกษัตริย์เจี๋ยถูกจับตัวได้ ซางทาง เนรเทศเจี๋ย ไปอยู่ที่พื้นที่ห่างไกล และเจี๋ยไปสิ้นพระชนม์ลงที่นั่น ส่วน ซางทางตั้งตนเป็นกษัตริย์ กลายเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ซาง

อำนาจรัฐของราชวงศ์ซางรวมศูนย์อยู่ที่กองทัพ ตามคำจารึกในกระดองเต่า หรือกระดูกสัตว์ มีข้อความกล่าวว่า กษัตริย์ได้ตั้งกองทหารขึ้นสามกองด้วยกัน คือ กองซ้าย กองกลาง และกองขวา แกนนำสำคัญของกองทัพประกอบด้วยบรรดาผู้ที่มาจากตระกูลขุนนาง ส่วนทหารธรรมดาส่วนใหญ่เป็นสามัญชน ทาสส่วนหนึ่งก็ถูกบังคับให้เป็นทหาร กองทัพมีอาวุธที่ทำด้วยสัมฤทธิ์ อาวุธที่ใช้กันทั่วไปได้แก่ขวาน หอก ดาบ รถศึกเป็นกำลังสำคัญในการประจัญบาน รถศึกแต่ละคันมีม้าลากสองตัว และมีทหารประจำรถ 3 นาย นายหนึ่งเป็นผู้ขับรถ อีกสองนายถืออาวุธ ส่วนทหารราบเดินขนาบสองข้างรถศึก

คำจารึกในกระดองเต่า หรือกระดูกสัตว์ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ในภาษาจีนมีชื่อเรียกว่า เจี๋ยกู่เหวิน นักโบราณคดีจีนพบ เจี๋ยกู่เหวิน สมัยราชวงศ์ซางโดยบังเอิญ เมื่อปี ค.ศ. 1899 ชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนานพบกระดูกสัตว์ และกระดองเต่าจำนวนหนึ่งระหว่างทำไร่ไถนา จึงนำไปขายให้แก่ร้านยาหลายแห่งในกรุงปักกิ่ง เพราะตามความเชื่อของชาวจีน กระดูกสัตว์และกระดองเต่ามีสรรพคุณรักษาโรคได้ หลังจากนั้นไม่นานนัก นักโบราณคดีจีนคนหนึ่งไปเห็นกระดูกสัตว์และกระดองเต่าที่คนใช้ซื้อมาต้มเป็นยา ก็มีความสนใจ จึงทำการตรวอย่างพินิจพิเคราะห์ ครั้นทราบว่ากระดูกสัตว์และกระดองเต่าดังกล่าวมาจากเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน ก็ตรวจสอบต่อไปอย่างละเอียดมากขึ้น เพราะในหนังสือประวัติศาสตร์จีนมีข้อความระบุว่า เมืองหลวงของราชวงศ์ซางอยู่ใกล้บริเวณเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน

ผลจากการสำรวจในเบื้องต้นพิสูจน์ได้ว่า ลายเส้นขีดๆ เขียนๆ ที่ปรากฏบนกระดูกสัตว์และกระดองเต่านั้นเป็นตัวอักษรจีนสมัยราชวงศ์ซางเมื่อ 3,000 กว่าปีก่อน

"เจี๋ยกู่เหวิน" ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะทำให้นักโบราณคดีจีนมีความกระจ่างในประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซางมากขึ้น

จากผลการศึกษาวิจัย "เจี๋ยกู่เหวิน" ที่ขุดพบในเมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน มีตัวอักษรรวมกว่า 4,000 ตัว ในจำนวนนี้ ที่นักโบราณคดีจีนสามารถเข้าใจความหมายได้กระจ่างมีประมาณ 2,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นข้อความว่าด้วยกิจกรรมของกษัตริย์และแสดงถึงสภาพการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสภาพสังคมในสมัยนั้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040