จีน ---ประเทศที่มีประวัติ 5000 ปี (2b)
  2017-04-18 15:22:31  cri

สังคมในสมัยราชวงศ์ซางมีพื้นฐานอยู่ที่ชุมชนต่างๆ ที่ทำการเกษตร กลุ่มคนเหนือขึ้นไปได้แก่ขุนนางที่เป็นเจ้านายชนเผ่าที่สืบตระกูลกันมา บุคคลที่มีฐานะสูงสุดคือกษัตริย์ เจ้าขุนมูลนายส่วนใหญ่เป็นนักรบ มีสิทธิ์ครอบครองอาวุธที่ทำจากสัมฤทธิ์ ซึ่งสามัญชนไม่สามารถมีได้ การสร้างและธำรงรักษากำลังรบไว้ก็เพื่อแผ่ขยายอำนาจการปกครองของราชวงศ์ซางให้กว้างขวางออกไปอีก เพื่อรีดนาทาเร้นเอาเครื่องบรรณาการของมีค่าจากชนเผ่าต่างๆ ที่ทำมาหากินใกล้ๆ กับดินแดนภายในอำนาจปกครองของราชวงศ์ซาง

ราชวงศ์ซางมีความเจริญทางวัฒนธรรม เพราะมีตัวอักษรใช้อย่างเป็นระบบ ตามหลักฐานจากภาชนะสัมฤทธิ์ที่มีรอยผ้าไหมหยาบๆ ประกอบด้วยลวดลายต่างๆ อย่างง่ายๆ ประชาชนสมัยนั้นยังสามารถผลิตผ้าธรรมดาและผ้าไหมผ้าแพรได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสมัยราชวงศ์ซางมีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและมีเทคโนโลยีในการถลุงโลหะและหล่อสัมฤทธิ์ แต่หลักๆ ยังคงเป็นเกษตรกรรมอยู่นั่นเอง แม้ว่าในตัวเมือง มีช่างฝีมือเป็นจำนวนมากทำอาชีพหัตถกรรมต่างๆ แต่ช่างฝีมือเหล่านี้ส่วนใหญ่พึ่งพิงและผูกพันอยู่กับเจ้านายและราชสำนัก การผลิตหลักของสังคมยังคงเป็นการทำไร่ไถนา เครื่องมือทำการเกษตรส่วนใหญ่ยังทำจากหินและไม้ เนื่องจากสัมฤทธิ์มีค่าสูงเกินไปที่จะใช้เป็นเครื่องมือทำการเกษตร

จากซากปรักหักพังที่ เมืองอิน เมืองหลวงของราชวงศ์ซาง ได้ขุดพบฉางเก็บข้าวใต้ดิน ฝาผนังและพื้นของฉางเก็บข้าวเหล่านี้ฉาบด้วยดินเหนียวผสมกับฟาง ซึ่งมั่นคงแน่นหนามาก อนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ซาง มีการหมักและกลั่นข้าวเพื่อผลิตเป็นเหล้าหลายชนิด ภาชนะบรรจุเหล้าหลายต่อหลายชนิดที่พบตามซากปรักหักพังของเมืองหลวงราชวงศ์ซางแสดงว่า การดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเจ้านายและขุนนาง ขณะเดียวกันก็แสดงว่า การผลิตข้าวคงจะมีปริมาณมากจนนำส่วนหนึ่งมาหมักแล้วกลั่นเป็นเหล้าได้

ในสมัยราชวงศ์ซาง มีการเลี้ยงสัตว์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตอนปลายสมัยราชวงศ์ซาง จำนวนวัวควายและแกะที่ใช้ในพิธีเซ่นสรวงบูชาแต่ละครั้งมีถึงหลายร้อยตัว คำที่บันทึกบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ระบุถึงการล่าสัตว์สมัยนั้นอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเจ้านายและขุนนางสมัยราชวงศ์ซางนิยมล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ อย่างไรก็ตาม การเกษตรยังคงเป็นหลักในสมัยนั้น

ในสมัยราชวงศ์ซาง ชีวิตทุกด้านของชนชั้นนำในสังคมล้วนต้องไปถามเทพเจ้าทั้งสิ้น นับตั้งแต่ผลการเก็บเกี่ยว การก่อสร้างที่อยู่อาศัย การขจัดโรคภัยไข้เจ็บ โชคชะตาไปจนถึงดินฟ้าอากาศ ขุนนางตำแหน่งเสนาบดีหรืออัครมหาเสนาบดีของกษัตริย์ทำหน้าที่ประกอบพิธีถามเทพเจ้า วิธีทำก็คือ ใช้กระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ เช่นวัว ควาย แล้วเจาะให้เป็นร่องเล็ก เสนาบดีผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้ใช้ไฟลนให้กระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์นี้มีรอยแตกแยกเป็นทางยาวออกไป ผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีดังกล่าวจะอ่านความหมายของรอยแตกเป็นคำทำนาย แล้วจารึกลงบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์

ในสมัยราชวงศ์ซาง มีความเชื่อในเรื่องชีวิตภพหน้า จากหลุมฝังศพของกษัตริย์กว่า 10 แห่ง ล้วนพบว่า มีข้าทาส และเครื่องใช้ที่มีค่าต่างๆ ถูกฝังรวมไปกับศพเจ้านาย ด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้ตายจะใช้ข้าทาสและสิ่งของเหล่านี้ต่อไปหลังจากสิ้นชีวิตแล้ว

ภาชนะสัมฤทธิ์เป็นสิ่งของสำคัญที่พบในหลุมฝังศพสมัยราชวงศ์ซาง การทำภาชนะสัมฤทธิ์นั้นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก ทั้งในการทำเหมือง การถลุงโลหะ การหล่อ และการขนส่ง แล้วยังต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความสามารถในการสร้างแม่พิมพ์ในการหล่อด้วย จากซากปรักหักพังสมัยราชวงศ์ซางที่พบที่เมืองเจิ้งโจว เมืองอันหยาง และพื้นที่อื่นๆ ในมณฑลเหอหนาน มีซากโรงงานหล่อสัมฤทธิ์ในสมัยนั้นด้วย โรงงานเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของพระราชสำนัก สันนิษฐานได้ว่า เทคโนโลยีการหล่อสัมฤทธิ์ในสมัยราชวงศ์ซางพัฒนาถึงระดับที่สูงมากแล้ว

กษัตริย์ โจ้ว เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซาง ได้ชื่อว่าสามานย์กว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ยอีก หากมีผู้แสดงความไม่พอใจพระองค์ ก็จะต้องถูกลงทัณฑ์อย่างโหดร้าย โดยบังคับให้ผู้ที่แสดงความไม่พอใจเดินไปบนแผ่นทองแดงที่มีถ่านไฟอยู่ข้างใต้ การแสดงความสำราญของกษัตริย์พระองค์นี้ก็พิสดารจนเหลือเชื่อ เช่น ใช้น้ำสุราแทนน้ำในสระ แขวนเนื้อไว้กินตามต้นไม้ ประชาชนทั่วไปชิงชังกษัตริย์ โจ้วอย่างมาก ทั้งนี้ทำให้รัฐโจว เมืองขึ้นของราชวงศ์ซางได้จังหวะยกกองทัพจากบริเวณลุ่มแม่น้ำเว่ย ทางภาคตะวันตกของราชวงศ์ซางเข้าโจมตีเมืองหลวงของราชวงศ์ซาง กองทัพรัฐโจวได้พันธมิตรมากมาย ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซาง และถูกกดขี่อย่างทารุณมากจากราชวงศ์ซางทั้งสิ้น กองทัพรัฐโจวสู้รบกับกองทัพของราชวงศ์ซางอย่างดุเดือด ระหว่างนั้น กำลังทหารส่วนใหญ่ของราชวงศ์ซางกำลังสู้รบกับชนเผ่าอี๋ตะวันออกในพื้นที่อื่น กษัตริย์ โจ้ว จึงเกณฑ์พวกทาสให้ออกไปรบแทนกองทัพราชวงศ์ซาง แต่ปรากฏว่า พวกทาสหันไปสนับสนุนกองทัพรัฐโจว พร้อมใจกันช่วยกองทัพรัฐโจวเข้าโจมตีเมืองหลวงของราชวงศ์ซาง กษัตริย์โจ้ว เห็นไม่มีทางสู้จึงกระโดดเข้าไปในกองไฟที่กำลังไหม้พระราชวังจนสิ้นพระชนม์ ราชวงศ์ซางถึงกาลอวสานลงในตอนกลางศตววรรษที่ 11 ก่อนคริสตศักราช ราชวงศ์ซางมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกัน 30 องค์ คิดเป็น 17 ชั่วคน เป็นระยะเวลาประมาณ 496 ปี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040