จีนส่ง "รุ้ง – ยานบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์" สู่ขอบอวกาศสำเร็จ (3)
  2017-06-28 11:25:47  cri

การวิจัยและผลิตยานบินขอบอวกาศไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ "รุ้ง" ของจีน ถือว่าได้ครอบครองมาตรฐานระดับสูง เพราะคณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจีนได้แก้ไขปัญหายากลำบากหลายประการ เช่น อุปสรรค์ด้านอากาศพลศาสตร์ การควบคุมท่าบินในอวกาศ และการใช้พลังงานแสงแดดด้วยประสิทธิภาพสูง

สถาบันวิจัยที่ 11 กลุ่มบริษัทวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินอวกาศแห่งประเทศจีนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบผลิตยานบิน "รุ้ง" นายเจี่ย หย่งชิง รองวิศวกรใหญ่กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการบินอวกาศนั้น จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความล้าหลังตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น งานวิจัยและผลิตยานบิน "รุ้ง" ของจีน จึงกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานในทุกด้านให้เทียบเท่ากับระดับความทันสมัยสูงสุดของโลก

สำหรับผลคืบหน้าด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ย่อมไม่ได้มาอย่างราบรื่นและง่ายๆ ระหว่างปี 2013 – 2014 กระบวนการวิจัยและผลิตยานบิน "รุ้ง" ก็เคยเผชิญกับการท้าทายที่หนักหน่วงอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น ในน่านฟ้าที่มีระดับความสูงต่ำ จะประสบภาวะที่อากาศไหลเวียนปั่นป่วน ทำให้ยานบิน "รุ้ง" บินในลักษณะกระโดดขึ้นลงไปมา และเหวี่ยงไปซ้ายขวาบ่อยครั้ง ยากที่จะควบคุมท่าบินที่มั่นคงได้ เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ตก ทีมงานวิจัยและผลิตตั้งใจศึกษาทฤษฎีการบิน ทำการทดลองด้านวิศวกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปรับปรุงระบบควบคุมการบิน และใช้เวลาปีเศษๆ แก้ไขปัญหาการควบคุมการบินด้วยความแม่นยำระดับสูงท่ามกลางเงื่อนไขอุตุนิยมวิทยาที่สลับซับซ้อน ประกันให้ยานสามารถบินอย่างมั่นคงท่ามกลางอากาศที่ไหลเวียนปั่นป่วน

นอกจากนี้แล้ว เจ้าหน้าที่วิจัยยังสร้างแบบจำลองระบบควบคุมการบินไร้คนขับที่ทันสมัย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควบคุมการบินของยานบินไร้คนขับที่อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ทดลองการบินเครื่องบินแสงอาทิตย์ที่มีปีกขนาด 40 เมตรขึ้นไปทั้งในน่านฟ้าต่ำและน่านฟ้าสูง ค่อยๆ ปรับปรุงแผนการออกแบบและการทดลองบินของเครื่องบินแสงอาทิตย์ให้สมบูรณ์ขึ้นทุกที

รองวิศวกรใหญ่เจี่ย หย่งชิงเผยว่า โครงการยานบินขอบอวกาศไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ "รุ้ง" สามารถขับเคลื่อนโครงการวิจัยที่สำคัญหลายโครงการ เช่น การศึกษาวิจัยแกรฟีน (Graphene เป็นรูปแบบหนึ่งของผลึกคาร์บอน แกรฟีนที่มีคุณภาพสูง มีความแข็งแรงมาก น้ำหนักเบา เกือบโปร่งใส และเป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่ดี เป็นวัสดุใหม่ที่มีคุณค่าสูงอย่างยิ่งในด้านฟิสิกซ์ วัสดุศาสตร์ สารสนเทศ คอมพิวเตอร์ การบินและการบินอวกาศ เป็นต้น) การวิจัยแบตเตอรี่แสงอาทิตย์รุ่นใหม่ และวิธีการเก็บสะสมพลังงาน ผลักดันให้ภารกิจการบินอวกาศของจีนก้าวหน้าอีกขั้น

ต่อไปในอนาคต ยานบินขอบอวกาศไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ "รุ้ง" ซึ่งมีสมรรถนะการทำงานคล้ายกับดาวเทียม ถือเป็นเวทีเคลื่อนที่กลางขอบอวกาศนี้ จะสามารถถ่ายทอดข้อมูลเพื่อให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยีรุ่น 4G/5G ได้แทนดาวเทียม บรรลุการรับรู้ติดตามระยะไกลและรักษาการสื่อสารอย่างต่อเนื่องเหนือน่านฟ้าเขตพื้นที่ที่ต้องการ

ยกตัวอย่าง ยานบิน "รุ้ง" จะทำหน้าที่เป็นสถานีส่งสัญญาณวายฟายในขอบอวกาศ ให้บริการการติดต่อสื่อสารแบบเคลื่อนที่ที่สะดวก แม่นยำ และราคาถูกกับเขตพื้นที่ห่างไกลหรือเกาะกลางมหาสมุทร ทดแทนอุปกรณ์การสื่อสารในปัจจุบันที่ต้องใช้เส้นใยแก้วหรือคลื่นไมโครเวฟ จึงไม่ต้องลงทุนสร้างเครือข่ายและสถานีส่งผ่านสัญญาณ และประหยัดต้นทุนสูงในการบำรุงรักษาอุปกรณ์การสื่อสาร

นอกจากนี้แล้ว ขอบเขตบริการของยานบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ยังขยายวงสู่ด้านการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ การสำรวจด้านการเกษตร การพยากรณ์และป้องกันอุทกภัย การประเมินสภาพการประสบภัยธรรมชาติ และปฏิบัติการช่วยกู้ภัยเป็นต้น เช่น ในกรณีเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วมหรือไฟไหม้ป่า ก็สามารถส่งยานบินไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยฟื้นฟูการติดต่อสื่อสารที่ถูกตัดขาดในเขตประสบภัยได้อย่างสะดวก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040