คัมภีร์ "เมิ่งจื่อ"09
  2017-12-04 10:57:20  cri

คัมภีร์เมิ่งจื่อ เป็นหนังสือคัมภีร์โบราณที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของจีน เป็นงานประพันธ์ของเมิ่งจื่อ นักปรัชญาเมธีคนสำคัญสมัยจั้นกั๋ว ซึ่งได้ร่วมกันจัดทำขึ้นกับบรรดาสานุศิษย์

เรื่องสำคัญประการหนึ่งในปรัชญาจีนคือเรื่องว่าด้วยเรื่องธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ นั่นก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์โดยกำเนิดดีหรือชั่ว พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มนุษย์เกิดมามีคุณธรรมในใจแล้ว หรือคุณธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดมีขึ้นใหม่ เมิ่งจื่อเองก็สนใจในปัญหานี้และคำตอบต่อปัญหานี้คือจุดเริ่มต้นของปรัชญาเมิ่งจื่อ "ความรู้สึกของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิดนั้นแสดงว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นคือความดี ถ้ามนุษย์กระทำสิ่งที่ไม่ดี เราก็ไม่ควรจะตำหนิว่านั้นเป็นสันดานของมนุษย์ " เมิ่งจื่อให้ทรรศนะว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีสภาพเป็นความดีงามโดยกำเนิด นั่นคือจิตใจของมนุษย์โดยธรรมชาติดั้งเดิมประกอบด้วยคุณธรรม และเมิ่งจื่อได้ยอมรับว่ามีธรรมชาติส่วนหนึ่งไม่ดีไม่เลวในตัวของมันเอง คือส่วนที่มนุษย์มีเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ความต้องการและสัญชาตญาณต่าง ๆ ธรรมชาติส่วนนี้จะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับการสั่งสมอบรมและการพัฒนาคุณธรรมที่มีอยู่โดยดั้งเดิมนั้นได้แค่ไหนเพียงไร เมิ่งจื่อยืนยันว่า ธรรมชาติของมนุษย์ดีโดยกำเนิดนั้น มิได้หมายความว่าทุกคนเกิดมาจะต้องเป็นปราชญ์ แต่หมายความเพียงว่าในธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีพืชพันธุ์แห่งความดีงามอยู่แล้วและสามารถพัฒนาให้เจริญงอกงามขึ้นได้โดยลำดับ พืชพันธุ์แห่งความดีงามอันถือว่าเป็นคุณธรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจหรือธรรมชาติของมนุษย์นั้นแยกแยะให้เห็นได้โดยลักษณะ 4 ประการคือ

(1) เหริน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นั่นคือไม่มีจิตดวงใดโดยสภาพปกติจะเฉยเมยต่อความทุกข์ทรมานของชีวิตอื่น ๆ ได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกเวทนาสงสาร คุณธรรมเบื้องต้นในลักษณะนี้เมื่อได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นก็คือเหริน ซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญประการหนึ่งในความคิดขงจื่อ

(2) ยี่ ความรู้สึกละอายใจและรังเกียจต่อความชั่ว นั่นคือจิตทุกดวงโดยสภาพปกติมีความรู้สึกละอายใจและรังเกียจต่อความชั่ว เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดมั่นในศีลธรรมและพัฒนาให้สมบูรณ์ เป็นคุณธรรมคือ ยี่

(3) หลี่ ความรู้สึกที่เป็นความสุภาพอ่อนโยน อันเป็นบ่อเกิดหรือจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติอันงดงาม เหมาะสมหรือนิติธรรมเนียม

(4) จื่อ ความรู้จักผิดชอบชั่วดี หมายเอาความสามารถทางพุทธิปัญญาอันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา

เมื่อความรู้สึกอันเป็นคุณธรรมเบื้องต้นนี้มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ หน้าที่ของมนุษย์คือการส่งเสริมพัฒนาให้เจริญงอกงามขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ

เมิ่งจื่อกล่าวว่า "บัณฑิตรู้จักนำเอาธรรมชาติอันดีออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ส่วนพาลชนหลงลืมธรรมชาตินั้นไป" ในแง่ของจุดมุ่งหมายของการศึกษาเมิ่งจื่อกล่าวไว้ว่า "อันการศึกษาศิลปวิทยานั้นมิใช่เพื่ออะไรอื่นนอกจากเพื่อติดตามค้นหาคุณสมบัติที่พรากหายไปจากจิตสันดานให้กลับคืนมา"

เมิ่งจื่อมีอุดมคติในการดำเนินชีวิตอยู่ว่า สมัยใดที่คนทั้งหลายถือธรรมเป็นใหญ่ เราจงยึดมั่นในธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติ สมัยใดที่คนทั้งหลายถืออธรรมเป็นใหญ่ เราจงอุทิศชีวิตเพื่อรักษาธรรมไว้ ฉันไม่เคยได้ยินว่าต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงธรรมเพื่ออนุโลมตามใจคน เมิ่งจื่อกล่าวว่า "กัลยาณชนมีสามสุข ซึ่งแม้ได้รับมอบครอบครองแผ่นดินก็จะไม่ยึดหมายมั่นไว้ " ส่วนอะไรที่จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขนั้นเมิ่งจื่อกำหนดไว้ 3 ประการคือ

(1) พ่อแม่ชราวัย พี่น้องสามัคคีไม่มีโพยภัย

(2) แหงนหน้ามิต้องได้อายต่อฟ้า ก้มหน้าพิจารณาตน มิต้องได้อายต่อใคร ๆ

(3) ได้ปรีชาชนคนดีมารับการอบรมอุ้มชู

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040