ประวัติศาสตร์การจัดประชุมในสมัยโบราณของจีน
  2018-04-09 09:45:32  cri

ระหว่างวันที่ 5-20 มีนาคม ที่ผ่านมา จีนจัดการประชุมสองสภาฯ คือการประชุมสภาผู้แทนประชาชน และ การประชุมสภากรมการเมืองแห่งชาติจีน ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ประจำปี ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 10 กว่าวันในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อสรุปผลการทำงานของรัฐบาล และ เทศบาลระดับต่าง ๆ และวางแผนการทำงานในอนาคตอย่างรอบด้าน ถือเป็นรูปแบบการประชุมที่ชาวจีนคุ้นเคยกันมาก

แต่ในสมัยโบราณ ที่จีนยังคงเป็นสังคมศักดินา รัฐบาลจะมีการประชุมขนาดใหญ่เช่นนี้หรือไม่ จะมีการปรึกษาประเด็นอะไรกันบ้างในการประชุม คนโบราณจัดประชุมอย่างไร วันนี้เราจะมาแนะนำประวัติศาสตร์ของการจัดประชุมในสมัยโบราณของจีน

ชาวจีนรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่า เราไม่สามารถพึ่งพาความคิดของคนแค่คนเดียวได้ ต้องอาศัยสติปัญญาของหลายคน ดั่งที่ขงจื๊อ นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยโบราณของจีนได้เสนอให้ปรึกษากัน โดยในขณะนั้น จีนยังไม่มีกลไกที่ต้องจัดประชุมร่วมเป็นประจำ

ในสมัยราชวงศ์ฉิน จีนเป็นประเทศที่มีเอกภาพ มีกลไกมากมายที่ใช้ต่อมาจากสมัยราชวงศ์ฉิน โดยการจัดประชุมในสมัยนั้นมี 3 รูปแบบ

1. จักรพรรดิ และ ขุนนางปรึกษาร่วมกัน เนื่องจากมีปัญหาใหญ่ที่ต้องการแก้ไข อย่างเช่น เมื่อสมัยจ้านกว๋อ ก๊กฉู่ เจ้า อู๋ ยัน วางแผนจะโจมตีฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้จึงเรียกประชุมให้ขุนนาง และ บุคคลที่มีสติปัญญา 60 คนเข้าร่วม เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ โดยถามว่า ภายในประเทศยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขมากมาย ตอนนี้ 4 ก๊กนั้นได้ร่วมมือกันเป็นพันธมิตร มุ่งโจมตีฉิน ไม่ทราบว่าทำอย่างไรดี ขุนนางต่าง ๆ ฟังแล้วไม่มีคำตอบ แต่มีคนหนึ่งชื่อ "เหยา เจี๋ย" (姚贾) เสนอให้ทูตของก๊กฉินไปเจรจากับ 4 ก๊ก พร้อมมั่นใจว่าจะขัดขวางสงครามครั้งนี้ได้ จิ๋นซีฮ่องเต้จึงมอบรถต่อสู้ 100 คัน ทองคำ 1,000 ตัน แก่เหยาเจี่ย พร้อมให้เหยาเจี่ยใส่ชุด และ ดาบของตัวเองไปเจรจากับทั้ง 4 ก๊ก ซึ่งเหยาเจี่ยก็ไม่ได้ทำให้จิ๋นซีฮ่องเต้ผิดหวัง ไม่เพียงแต่ได้หลีกเลี่ยงสงครามครั้งนั้นแล้ว ทั้ง 4 ก๊กยังร่วมมือเป็นพันธมิตรกันอีกด้วย

2. เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จักรพรรดิจะสั่งให้ขุนนางที่ตนเองเชื่อใจ และ ใกล้ชิดมาร่วมกันปรึกษาหารือ ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยราชวงศ์ฉิน มีบุคคลสำคัญทางการเมืองชื่อ "จังอี๋" (张仪) เป็นผู้มีสติปัญญาทางการเมือง และ การต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งเป็นอัครเสนาบดีของก๊กฉินในสมัยจ้านกว๋อ ในสมัยกษัตริย์ฉินฮุ่ยหวัง ก๊กฉินอยากโจมตีก๊กฉี แต่เป็นห่วงว่า ก๊กฉีกับก๊กฉู่เป็นพันธมิตรกันอยู่ ถ้าเกิดโจมตีขึ้นมา ก๊กฉู่จะต้องยกทัพช่วยเหลือแน่นอน กษัตริย์ฉินฮุ่ยหวังจึงเรียกจังอี๋มาปรึกษา จังอี๋เสนอตัวไปก๊กฉู่ และสัญญาว่าจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างก๊กฉี และ ก๊กฉู่ โดยกล่าวกับกษัตริย์ฉู่หวยหวังว่า ถ้าตัดความสัมพันธ์กับก๊กฉีได้สำเร็จ กษัตริย์ฉินฮุ่ยหวังจะครอบครองดินแดน 600 ไมล์จีน (หน่วยวัดเนื้อที่ในสมัยโบราณ มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า เนื้อที่นี้มีประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตร) กษัตริย์ก๊กฉู่มองเห็นแต่ประโยชน์ คิดว่าเป็นเรื่องดีมาก ที่ไม่ต้องต่อสู่กับใครก็สามารถครอบครองดินแดนพื้นที่กว้างขวางขนาดนี้ได้ จึงตกลง และ ตัดความสัมพันธ์กับก๊กฉี ต่อมา ทูตก๊กฉู่เดินทางไปรับมอบดินแดนที่ก๊กฉิน จัง อี๋บอกว่า วันนั้นได้สัญญาไว้เพียง 6 ไมล์ เท่านั้น ไม่ใช่ 600 ไมล์ กษัตริย์ก๊กฉู่โกรธมาก จึงยกทัพมาโจมตีก๊กฉิน แต่เนื่องจากก๊กฉินไม่มีความช่วยเหลือจากก๊กฉี พันธมิตรเก่า จึงมีกำลังไม่พอเพียง และ พ่ายแพ้ไปในที่สุด

3. ในภาวะที่ไม่มีกษัตริย์ ขุนนางจะจัดการประชุมเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ก็เคยเกิดขึ้นมาในสมัยปลายราชวงศ์ฉิน ครั้งนั้นอัครเสนาบดีชื่อ "เจ้า เกา" (赵高) อยากยึดอำนาจเป็นจักรพรรดิเอง จึงสั่งให้ฆ่าจักรพรรดิองค์ที่สองของสมัยราชวงศ์ฉินที่ชื่อ "หูไฮ่" (胡亥) และ เรียกขุนนางระดับต่าง ๆ มาปรึกษาเรื่องการขึ้นเป็นจักรพรรดิเอง แต่พบว่า ขุนนาง และ นายพลส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนเขา เขาจึงต้องยกตำแหน่งให้ "จื่ออิง" (子婴) ลูกของ "หูไฮ่" เป็นจักรพรรดิแทน

รูปแบบการประชุมทั้ง 3 แบบ แสดงให้เห็นว่า ในต้นสมัยราชวงศ์ฉิน เนื้อหาสำคัญในการประชุมอยู่ที่สงคราม และ ปัญหาด้านการทูต หลังจากก๊กฉินได้สร้างประเทศที่มีเอกภาพขึ้นแล้ว เนื้อหาการประชุมก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการบริหารประเทศ สำหรับเรื่องใหญ่อย่าง "เฝินซูเคิงหรู" (焚书坑儒) จิ๋นซีฮ่องเต้เคยจัดการประชุมปรึกษาเรื่องนี้มาแล้ว "เฝินซูเคิงหรู" เป็นนโยบายที่มีความโหดร้ายคือ เผาหนังสือ ฝังปัญญาชนทั้งเป็น หนังสือที่ถูกเผา คือ หนังสือลัทธิขงจื๊อ และ หนังสือประวัติศาสตร์ เว้นแต่จะเป็นประวัติศาสตร์ของฉิน นอกจากนี้ยังฝังนักคิด และ ปัญญาชนของสำนักวิชาขงจื๊อทั้งเป็น จำนวน 460 คน เพื่อยกอำนาจของจักรพรรดิให้สูงขึ้น

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น การประชุมแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ เรียกว่า "จี๋อี้" (集议) และ "เฉาอี้" (朝议) "เฉาอี้" เป็นรูปแบบที่สำคัญที่สุด และเป็นรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันที่สุด เพราะสามารถเห็นในละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือการประชุมประจำวันที่ขุนนางเข้าเฝ้าจักรพรรดิ ในทุกเช้า เพื่อรายงานผลการทำงาน ปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือ ข้อเสนอการบริหารประเทศต่าง ๆ "เฉาอี้" เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเซี่ยวเซวียนตี้ (孝宣帝) ของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก โดยกำหนดให้มีการประชุมทุกวัน ต่อเนื่องกัน 5 วัน เป็นกลไกการสร้างระบบการประชุมที่มั่นคง

ในขณะเดียวกัน "เฉาอี้" ยังแบ่งออกเป็น "เน่ยเฉา" (内朝) และ "ไหว้เฉา" (外朝) "เน่ย" (内) แปลว่าภายใน "เน่ยเฉา" เป็นการประชุมที่จักรพรรดิจัดกับขุนนางที่ตนเองเชื่อถือมากที่สุด หรือ ขุนนางที่ใกล้ชิดกับจักรพรรดิมากที่สุด เป็นการประชุมที่ปรึกษาเรื่องลับ ส่วน"ไหว้" (外) แปลว่าภายนอก "ไหว้เฉา" จึงเป็นการประชุมที่จักรพรรดิปรึกษากับขุนนางระดับสูง

ส่วน "จี๋อี้" เป็นการประชุมที่จักรพรรดิไม่ต้องเข้าร่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง และ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าร่วม แต่ต้องจัดตามคำสั่งของจักรพรรดิ ห้ามจัดเอง การประชุมแบบนี้มีลักษณะประชาธิปไตย เพราะเมื่อจัดการประชุมแบบ "ไหว้เฉา" แล้ว หากจักรพรรดิเกิดไม่ชอบ จักรพรรดิก็จะเสนอให้จัด "จี๋อี้" มาปรึกษาอีกครั้ง การตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องของจักรพรรดิเองก็เคยถูกขุนนางปฏิเสธใน "จี๋อี้" มาแล้ว อย่างเช่น จักรพรรดิบางองค์อยากเปลี่ยนพระมเหสี หรือ มกุฎราชกุมาร ก็ถูกปฏิเสธใน "จี๋อี้" มาหลายครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อจักรพรรดิเสียชีวิต และ ไม่มีลูกหลานสามารถเป็นจักรพรรดิต่อได้ ก็จะมีการจัดการประชุมแบบ "จี๋อี้" เพื่อแต่งตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่ หรือแม้กระทั่งเมื่อขุนนางส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการบริหารบ้านเมืองของจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ก็เคยปลดออกได้ผ่านทาง "จี๋อี้" มาแล้ว

แต่ "จี๋อี้" ก็มีข้อเสีย คือ มีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อสมัยจักรพรรดิหวังหมั่ง (王莽) มีการกำหนดนโยบายใหม่มากมาย โดยทุกอย่างจะต้องผ่านการปรึกษาในที่ประชุม ทำให้เจ้าหน้าที่ต่างยุ่งกับการประชุม ไม่ว่างที่จะจัดการกับภาระกิจประจำวัน และที่สำคัญที่สุด คือ สำหรับระบบรายได้ของเจ้าหน้าที่นั้น เมื่อปรึกษากันมานานแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งระดับสูง และ ระดับล่างทำงานแต่ไม่มีรายได้ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จักรพรรดิหวังหมั่งถูกโค่นล้มลง

สังคมสมัยศักดินาของจีนมีการปรึกษาหารือแบบประชาธิปไตยน้อย ส่วนใหญ่ออกนโยบายตามคำสั่งของจักรพรรดิ มีการประชุมที่มีความสำคัญทั่วประเทศไม่มาก การประชุมที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ "การประชุมเอี๋ยนเถี่ย" (盐铁之议) ในกลางสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

ในสมัยจักรพรรดิฮั่ยเจาตี้ มีการมีประชุมเอี๋ยนเถี่ยตามคำสั่งของจักรพรรดิ โดยมีนายพลใหญ่ "ฮั่วกวง" (霍光) เป็นประธาน เพื่อปรึกษานโยบายการค้าเกลือ เหล็ก และ เหล้า สาเหตุที่มีการจัดการประชุมครั้งนี้ คือ รัฐบาลราชวงศ์ฮั่นออกนโยบายเศรษฐกิจที่ให้รัฐบาลค้าขายเกลือ เหล็ก และ เหล้า โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มงบใช้จ่ายสำหรับทำสงคราม ขัดขวางการพัฒนาอำนาจในท้องถิ่น และ เพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่นโยบายเหล่านี้ทำให้ภาษีของพ่อค้าเพิ่มขึ้น ร้านค้าของเอกชนต้องปิดตัวลงจำนวนมาก

การประชุมครั้งนั้นมีผู้แทนภาคเอกชน และ ผู้แทนภาครัฐทั้งหมดกว่า 60 คนเข้าร่วม ปรึกษากันเป็นเวลากว่า 4 เดือน โดยผู้แทนภาคเอกชนเห็นว่า ต้องให้เศรษฐกิจเติบโตตามธรรมชาติ โดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล วิธีนี้จะทำให้ชีวิตประชาชนมีความสุข ด้านผู้แทนภาครัฐยืนกรานในนโยบายเดิม จึงพยายามโต้เถียงกันเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐบาล ผู้แทนภาครัฐบอกว่า ภาคเอกชนไม่เข้าใจภาพรวมของประเทศ ไม่เข้าใจความลำบากของรัฐบาล ผลสรุปของการประชุม คือ กำหนดให้รัฐเลิกทำการค้าเหล้า แต่นโยบายอื่นยังให้คงเดิม

ในสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และ ราชวงศ์ชิง จักรพรรดิส่งเสริมอำนาจของตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยลดอำนาจของเหล่าบรรดาขุนนาง ระบบการประชุมก็ค่อย ๆ มีบทบาทน้อยลง เมื่อถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิง การประชุมจึงไม่มีการปรึกษา และ การโต้เถียงกันอีกแล้ว ซึ่งทำให้คนวิจารณ์ว่า การประชุมในสมัยนั้นเป็นเพียงแค่การแสดง

หนังสือพิมพ์ "เซินเป้า" (申报) มีการบันทึกการประชุมครั้งหนึ่งของสมัยราชวงศ์ชิง ในการประชุมมีอ๋ององค์หนึ่งเป็นประธาน เขากล่าวว่า เรื่องนี้ควรปฏิบัติอย่างไร ขอให้ทุกออกความคิดเห็นของตัวเอง จากนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงมองเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างให้ความคิดเห็น เจ้าหน้าที่ระดับล่างก็กล่าวเสนอให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงให้ความคิดเห็น แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ไม่กล้าพูดอะไร จึงขอให้อ๋องสั่งสอน อ๋องจึงให้ข้อเสนอ และ กล่าวว่า เรื่องนี้มีวิธีแก้เพียงอย่างเดียว ทุกคนคิดว่าอย่างไร เจ้าหน้าที่ทุกคนจึงปรบมือ และ เห็นด้วย ต่อมาเลขาธิการจึงเอาเอกสารออกมาให้ผู้ร่วมประชุมลงนาม การประชุมครั้งนั้นจึงถือว่าเสร็จสิ้นลง

แม้ว่าการประชุมในสมัยโบราณจะมีประสิทธิภาพต่ำ แต่ขุนนางก็สามารถเสนอความเห็นทุกวันได้โดยไม่กลัวอำนาจของจักรพรรดิ และ สามารถให้ข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาได้พร้อมกันหลายคน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040