เยือนถิ่นศิลปะ 798 กับ รศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยของเมืองไทย
  2010-11-04 14:23:54  cri
รศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสวมหมวกอีกใบเคียงคู่กันมาตลอดกับการสอนหนังสือ นั่นก็คือการทำงานศิลปะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงศิลปะทั้งของไทยและนานาชาติ

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ท่านได้ร่วมคณะเดินทางมากับอาจารย์ และบรรดานิสิตจากภาควิชาศิลปะสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อให้ได้เห็นกับตาตนเองว่าศิลปะจีนนั้นพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เพราะทนเสียงที่พูดกันหนาหูจากเพื่อนฝูง และข่าวคราวจากแวดวงศิลปะนานาชาติ ว่าปัจจุบันนั้นจีนยืนอยู่บนแถวหน้าของโลก โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัย

ดังนั้นเมื่อทราบข่าวการเดินทางมาครั้งนี้ ผมจึงเดินทางไปสัมภาษณ์ยังแมนชั่นหรูขนาด 4 ห้องนอน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากรั้วของเมืองศิลปะ 798 ที่โด่งดังของกรุงปักกิ่ง

การเดินทางมา 798 ในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหรือสิ่งที่คาดหวังอย่างไรบ้าง

ก่อนที่จะเดินทาง ผมก็เคยได้ยินชื่อเสียงของ 798 มาบ้างจากเพื่อนคนไทยและศิลปินที่เคยมา เมื่อได้ข่าวคราว เราก็เกิดความสนใจ โดยเฉพาะตรงที่มีการจัดการของรัฐบาลที่มองเห็นเรื่องของพื้นที่ทางศิลปะ พออาจารย์ถนอมชวนว่าจะพานักศึกษาปริญญาโทมา มาด้วยกันไหม ก็รู้สึกว่าน่ามา จะมาเองก็คงจะยุ่งยากพอสมควร เพราะภาษาจีนผมไม่รู้ ผมเลยตัดสินใจร่วมคณะมาด้วยซะเลย

สิ่งแรกที่เห็น....ตอนแรกก็นึกไม่ออก ตามจินตนาการก็คิดว่าคงจะเป็นตึกเดียว เป็นโรงงานเก่าเหมือนกันแถวโซโหหรือเปล่า จริงๆ แล้วมันก็มีลักษณะประมาณนั้น แต่แตกต่างที่เมื่อเดินเข้าไปแล้ว ตอนแรกคิดว่าน่าจะใช้เวลาสักวันหนึ่งก็คงจะพอ แต่สุดท้ายบ็ดเสร็จแล้วเ เราใช้เวลาสองวันเต็มๆ

สิ่งหนึ่งที่เห็นและค่อนข้างประทับใจก็คือ ในเรื่องของการจัดการพื้นที่ ซึ่งทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าทางวงการศิลปะของจีนเอง หรือว่าเจ้าของแกลเลอรี่เอง แต่ที่หลักๆ คือผมคิดว่ามาจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ทำให้เกิดพื้นที่เช่นนี้ สำหรับผมเองก็อยากให้เกิดขึ้นในลักษณะนี้ที่เมืองไทยบ้าง

อย่างกรณีที่พอนึกถึงแกลเลอรี่ ก่อนหน้านี้ก็คิดว่าคงจะมีพื้นที่เยอะๆ หลายๆ แห่ง แต่คงไม่ใหญ่มากนัก แต่บางพื้นที่กลับใหญ่กว่าหอศิลป์บ้านเราเสียอีก ที่สำคัญตัวงานเองมีความน่าสนใจด้วยในการคิวเรตงานแต่ละชิ้น ในแต่ละเอ็กซิบิชั่น ส่วนเรื่องของลักษณะงานก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าก็มีคละๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง หรืองานอาจจะดี แต่เราอาจจะชอบสไตล์ไหนหรืองานแนวไหนก็เลือกชมเอา แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่เหล่านี้ ในการดูงานศิลปะที่ใช้เวลาถึงสองวัน ผมก็คิดว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่พอสมควร และก็เป็นพื้นที่ที่มีงานด้านดีไซน์ มีคนมาเดิน มาถ่ายรูปเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เห็นคู่บ่าวสาวมาถ่ายรูปแต่งงานกันที่นี่ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ว่ามีงานศิลปะ แล้วจะมีแต่คนมาเดินดูเท่านั้น แต่ว่าพื้นที่แบบนี้ทำให้คนคุ้นชินกับการเข้าใกล้งานศิลปะ ถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีเจตนามาดูงานศิลปะ แต่ว่าการใช้พื้นที่ที่ทำให้เกิดเทรนด์หรืออะไรก็แล้วแต่ มันบ่งบอกถึงการพัฒนาพื้นที่ที่...(เว้นช่วงคิด)...คืออย่างน้อยก็เกิดการผ่านหูผ่านตา และน่าจะทำให้เกิดความไม่เกร็ง และความไม่กลัวที่จะเข้าใกล้ศิลปะ ซึ่งผมคิดว่าในเมืองไทยเองก็ควรจะมีพื้นที่แบบนี้ เพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าใกล้งานศิลปะได้ โดยคิดว่าเป็นเรื่องปกติและธรรมดา สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่ชอบคิดว่างานศิลปะดูไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วงานศิลปะก็ไม่ได้หมายความว่าต้องดูรู้เรื่องทุกชิ้นไป การทำอย่างไรให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดงานศิลปะต่างหาก พอคุ้นๆ ชินๆ มากเข้า ก็จะทำให้...เมื่อไม่เห็นไม่ได้ดูแล้วก็จะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต

ทีนี้ อีกส่วนหนึ่งก็คือ เมื่อคนเข้ามาในพื้นที่ ทั้งศิลปิน ทั้งคนที่มาชมงานศิลปะ หรือแม้แต่คนชราเอง ซึ่งผมค่อนข้างประทับใจ เมื่อเห็นผู้สูงอายุเข้ามาดูงาน และก็เกาะกลุ่มดูกันแบบซีเรียส แล้วก็มีการวิพากษ์วิจารณ์งาน แล้วก็หัวเราะไปด้วย ผมฟังเขาไม่ออกหรอก แต่ว่าสิ่งที่เห็นเขาชี้ๆ กันในงานนั้น คือเขาอาจจะตั้งข้อสงสัยและเปรียบเทียบในสิ่งที่เขาเห็นอยู่ แล้วมันมีบทสนทนาระหว่างผู้ชมกับตัวงาน แม้ว่าจะเข้าใจหรือไม่ อันนั้นไม่สำคัญ แต่เมื่อเขาได้มาดูแล้วเกิดการโต้ตอบกันระหว่างตัวงาน สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่นอกจากวัยรุ่นแล้ว ได้กลายเป็นพื้นที่ให้คนที่เกษียณแล้วได้ชื่นชมกับงานศิลปะ ทำให้เห็นว่าไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับการมาซื้อขายงานศิลปะกันอย่างเดียว คือเมื่อมันมีคนจำนวนมากเข้ามา ผมมองว่าในกรณีเหล่านี้ ในภาพรวมแล้วจะทำให้คนซึมซับได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดีไซน์ เรื่องของความงาม เรื่องของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเป็นเรื่องของการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับพื้นที่ทางศิลปะได้ด้วย มากกว่าที่พอมีเวลาว่างก็ไปเข้าศูนย์การค้าเพียงอย่างเดียว

.รศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ขณะบันทึกรายละเอียดของงานประติมากรรมยุคสร้างชาติของจีน

1 2 3 4
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040