กรอบความร่วมมือ 2+7 (2+7合作框架)
  2013-10-10 19:03:12  cri
วันที่ 9 ตุลาคมนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียนที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวันของบรูไน และกล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุม โดยเสนอแนวทางการเมืองสองแนวทาง พร้อมเสนอให้ขยายความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย 7 ด้าน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กรอบความร่วม 2+7 เป็นนโยบายในการพัฒนาความสัมพันธ์กับอาเซียนของรัฐบาลชุดใหม่ของจีน

แนวทางการเมืองใหม่ 2 ประการคือ เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างพื้นฐานแห่งการพัฒนาความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ทุกฝ่ายต้องเร่งพัฒนาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกัน และอีกแนวทางหนึ่งคือ มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายการเอื้อประโยชน์แก่กัน และได้รับชัยชนะร่วมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้น

สำหรับความร่วมมือ 7 ด้านคือ ประการแรก เร่งหารือความเป็นไปได้ในการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรประเทศและความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน หากทุกฝ่ายเห็นชอบจนได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างหลักประกันด้านกฎหมาย และกลไกให้กับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียน

ประการที่ 2 เริ่มการเจรจาเกี่ยวกับการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้สูงขึ้น ส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายหามาตรการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ทำให้ยอดมูลค่าการค้าสองฝ่ายสูงถึง 1,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2020 ให้ประเทศอาเซียนได้รับประโยชน์จากความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ช่วง 8 ปีข้างหน้า จีนจะนำเข้าสินค้ามูลค่า 3,000,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐจากอาเซียน พร้อมลงทุนในประเทศอาเซียนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประการที่ 3 เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คณะกรรมการร่วมเกี่ยวกับการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านต่างๆ ระหว่างจีน-อาเซียน และกลไกการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมจีนอาเซียนต้องแสดงบทบาทมากขึ้นในการวางแผนพัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างทั้งสองฝ่าย เริ่มดำเนินโครงการที่สำคัญที่สุดโดยเร็ว จีนยังริเริ่มให้ก่อตั้งธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย เพื่อระดมเงินทุนให้แก่โครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของชาติอาเซียน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

ประการที่ 4 กระชับความร่วมมือด้านการเงิน และเสริมความแข็งแกร่งในการรับมือกับความเสี่ยงด้านการเงินของภูมิภาคนี้ โดยจีนเสนอให้ขยายการแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั้งปริมาณ และขอบเขตในภูมิภาคนี้ อีกทั้งให้ขยายจุดนำร่องการค้าด้วยสกุลเงินของประเทศตน เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุน

ประการที่ 5 ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ขณะนี้ จีนได้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือทางทะเลมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนยินดีรับข้อเสนอโครงการจากประเทศต่างๆ

ประการที่ 6 กระชับร่วมมือด้านความมั่นคง จีนเสนอให้ปรับปรุงกลไกการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมจีน-อาเซียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้จัดการเจรจาอย่างสม่ำเสมอในประเด็นความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ทั้งสองฝ่ายยังต้องขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ จีนยังริเริ่มให้กำหนดโครงการความร่วมมือด้านการกู้ภัยระหว่างจีน-อาเซียน เพื่อขยายการแลกเปลี่ยนกับศูนย์ประสานงานการบรรเทาภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน นอกจากนี้ จีนยินดีสร้าง กลไกแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลจีน-อาเซียนด้วย เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น อบรมบุคลากร และร่วมลาดตระเวน

ประการที่ 7 กระชับการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีร่างโครงการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมจีน-อาเซียน และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้ประสบความสำเร็จ

นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า กรอบความร่วมมือ2+7 มีความหมายสำคัญยิ่งในการเพิ่มความไว้วางใจทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ขยายความร่วมมือด้านต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน สร้างความผาสุขให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ และสร้างคุณูปการให้แก่สันติภาพ เสถียรภาพ และควรามเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ ตลอดจนของโลกด้วย

(NUNE/cai)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040