2019-04-22 09:09CRI
หลาง ผิง เลือกที่จะอำลาครอบครัว และเดินทางกลับประเทศมาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน วอลเลย์บอลทีมชาติจีน ตามคำเชิญของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งชาติจีน ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นที่สนามบิน หลาง ผิง ระบุว่า การเลือกกลับประเทศ และเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติจีนของเธอ พิจารณาจากความรับผิดชอบ เนื่องจากทีมชาติต้องการเธอ แม้การติดสินใจรับหน้าที่นี้จะมีความเสี่ยง แต่เธอก็ยินดีเปลี่ยนแรงกดดันเป็นพลังขับเคลื่อน และพยายามทำงานต่อไป
การรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติของเธอยากลำบากไม่แพ้กับตอนที่เธอเป็นนักกีฬา
เพราะว่างานบริหาร โดยเฉพาะการประสานงานต่าง ๆ ของผู้ฝึกสอนมีความสลับซับซ้อนมาก ถือเป็นความท้าทายใหม่ของหลาง ผิง นอกจากนั้น ตลอดช่วงที่ทำการฝึกสอน หลาง ผิง มักจะยืนในสนามฝึกซ้อมการแข่งขัน วันละ 7 - 8 ชั่วโมง มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลาง ผิง เหนื่อยมากจนแทบเป็นลมในสนามกีฬา
ภายใต้การฝึกสอน และการชี้นำของหลาง ผิง ทีมชาติจีนทำผลงานคว้าอันดับ 3 ในการแข่งขันวอลเลย์บอลเวิลด์คัพ ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1995 และได้รับเหรียญเงินในการแข่งขันวอลเลย์บอล กีฬาโอลิมปิกที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 1996 ในการแข่งขันครั้งนั้นเอง สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศได้คัดเลือกหลาง ผิง เป็นผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมของโลก หลังจากนั้น หลาง ผิง ทำผลงานในการดูแลทีมชาติจีนอย่างต่อเนื่อง ปี ค.ศ. 1997 หลาง ผิง นำทีมชาติจีนคว้าแชมป์การแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 9 ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 หลาง ผิง นำทีมชาติจีนคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศจากการแข่งขังชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 13 และได้คว้าแชมป์กีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ได้สำเร็จ
หลาง ผิง ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติจีนในช่วงปลายปี ค.ศ. 1998 และเปลี่ยนไปคุมทีมในการแข่งขันลีกอาชีพของอิตาลีในปีถัดมา ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางการเป็นผู้ฝึกสอน ด้วยการพาทีมที่เธอดูแลคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับลีก และคว้ารางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมแห่งปีอยู่หลายสมัย
ปี 2002 หลาง ผิง ได้รับการจารึกชื่อในหอเกียรติยศกีฬาวอลเลย์บอลนานาชาติ (The International Volleyball Hall of Fame หรือIVHF) ที่เมืองฮอลโยค รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ เมืองต้นกำเนิดกีฬาวอลเลย์บอล
หอเกียรติยศแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1985 คัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อปีละครั้ง จนถึงปัจจุบัน มีนักวอลเลย์บอลกว่า 40 คนได้รับเกียรตินี้ ขณะที่หลาง ผิง เป็นนักกีฬาเอเชียเพียงคนเดียวที่มีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศแห่งนี้
คณะกรรมตัดสินของหอเกียรติยศประกอบด้วย นักกีฬา ผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอล และผู้สื่อข่าวที่มีชื่อเสียง โดยปกติจะต้องมีกรรมการอย่างน้อยร้อยละ 75 ลงคะแนนเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ จึงจะสามารถนำชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศได้ แต่สำหรับหลาง ผิง เธอได้รับเสียงเห็นชอบ 100% จากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า หลาง ผิง หรือ “ค้อนเหล็ก” คนนี้ เป็นพลังขับเคลื่อนให้กับทีมวอลเลย์บอลหญิงจีนให้ผงาดบนเวทีวอลเลย์บอลโลกในทศวรรษปี 1980
ระหว่างปี ค.ศ. 1980 - 1985 หลาง ผิงได้รับการคัดเลือกเป็นนักกีฬายอดเยี่ยม 1 ใน 10 คนของจีนทุกปี รางวัลนี้จัดโดยสำนักงานกีฬาแห่งชาติจีน เพื่อเชิดชูนักกีฬาทั้งชายและหญิงที่ประสบความสำเร็จในระดับสากล และเป็นแชมป์ในแต่ละประเภทกีฬา ซึ่งหลาง ผิง เป็นนักกีฬาจีนที่ได้รับเกียรติรับรางวัลนี้เป็นจำนวนครั้งมากที่สุด
ปี ค.ศ.1982 การแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก มีพิธีมอบรางวัลแก่ผู้เล่นทรงคุณค่า (Most Valuable Player; MVP) เป็นครั้งแรก โดยหลาง ผิง เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักกีฬาที่มีความโดดเด่นในการแข่งขันรายการต่าง ๆ
นอกจากนี้ ในงานกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปี ค.ศ.1984 และการแข่งขันวอลเลย์บอลเวิลด์คัพ ปี ค.ศ. 1985 หลาง ผิง ยังได้รับรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าอีกถึง 2 ครั้ง
เส้นทางผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลในต่างแดนยังคงไม่หยุดเพียงเท่านี้ ในปี ค.ศ. 2005 หลาง ผิง ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกอีกครั้ง ในการเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้กับทีมวอลเลย์บอลหญิงของสหรัฐฯ
ในความเห็นส่วนตัวของหลาง ผิง ที่มีลูกสาวอยู่ในสหรัฐฯ และในฐานะแม่ เมื่อเธอได้มีโอกาสอยู่กับลูกสาว เธอย่อมที่จะเลือกไปอยู่กับลูกสาวบ้าง หลาง ผิง เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 2005 - 2008 ระหว่างนั้นเอง เกิดความขัดแย้งขึ้น ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่ง ในปี ค.ศ. 2008 ทีมวอลเลย์บอลสหรัฐฯ ที่นำโดยหลาง ผิง มีนัดประชันรอบรองชนะเลิศกับทีมชาติจีน การแข่งขันคู่นั้น มีนาย หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น และนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าชมการแข่งขันในสนาม ขณะที่ผู้ชมจีนกว่า 250 ล้านคนก็ได้รับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมสหรัฐฯ สามารถเฉือนเอาชนะทีมจีนไปได้ด้วยคะแนน 3 ต่อ 2 เซ็ต และในที่สุดทีมสหรัฐก็สามารถคว้าเหรียญเงินกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งไปครอง ส่วนทีมจีนได้เหรียญทองแดง นำมาซึ่งความไม่พอใจของชาวจีนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมหลาง ผิง ในฐานะเป็นคนจีนจึงต้องนำทีมต่างชาติมาแข่งกับทีมจีนด้วย หลาง ผิง ให้ความเห็นว่า การแข่งขันกีฬามีแพ้มีชนะเป็นของคู่กัน สิ่งที่สำคัญ คือ แต่ละทีมต้องแสดงความสามารถของตนเองออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การแข่งขันระดับโลก ไม่ใช่สงครามโลก ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ แต่เพื่อจิตใจของมนุษย์ชาตินั่นเอง
ระหว่างปี ค.ศ. 2009 - 2013 หลาง ผิง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ฝึกสอนทีมวอลเลย์บอลหญิงเหิงต้า ในมณฑลกว่างตงของจีน ซึ่งเป็นทีมสโมสรวอลเลย์บอลอาชีพทีมแรกในประเทศ ถือเป็นบทบาทการบุกเบิกอีกครั้งหนึ่งของหลาง ผิง