บทวิเคราะห์ : ประชาคมโลกเรียกร้องให้สหรัฐฯแสดงความรับผิดชอบของประเทศมหาอำนาจ

2022-12-05 12:24:11 | CMG
Share with:

โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายอันหนักหน่วงจากโรคระบาด เศรษฐกิจถดถอย และวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ ประชาคมโลกคาดหวังว่าสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแสดงบทบาทเชิงบวก แต่ทว่าพฤติกรรมของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะสวนทางกับความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศเสมอ

เดือนสิงหาคม ปี 2022 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ลงนาม"ร่างกฏหมายว่าด้วยการลดอัตราเงินเฟ้อ" ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลสหรัฐฯจะให้เงินอุดหนุนสูงถึง 369,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการผลิตและการลงทุนทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า แร่ธาตุสำคัญ พลังงานสะอาด และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ในจำนวนนี้มีมากถึง 9 รายการที่ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีภายใต้เงื่อนไขว่าต้องดำเนินการผลิตและจำหน่ายในสหรัฐฯหรือภูมิภาคอเมริกาเหนือเท่านั้น

สหรัฐฯ อ้างว่าร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและลดการขาดดุล แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าร่างกฎหมายที่มีลักษณะเชิงเลือกปฏิบัติฉบับนี้เข้าข่ายละเมิดหลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก(WTO) เช่น หลักปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง(Most-Favored Nation Treatment-MFN) และหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ(national treatment) เป็นต้น การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้เริ่มบิดเบือนการดำเนินการค้าและการลงทุนในขอบเขตทั่วโลกของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง อาจก่อให้เกิดการแข่งขันด้านการอุดหนุนแบบ"โยนภัยอันตรายแก่ผู้อื่น" เพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก WTO และบั่นทอนความพยายามระดับโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้าของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจัดประชุมที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ทุกฝ่ายในที่ประชุมต่างแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อ "ร่างกฎหมายว่าด้วยการลดอัตราเงินเฟ้อ"ของสหรัฐฯ และเชื่อว่าการให้เงินอุดหนุนเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายรายการที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อยานยนต์ พลังงานทดแทน แบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากของสหภาพยุโรป อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมและการตัดสินใจด้านการลงทุนของสหภาพยุโรป เจ้าหน้าที่จากหลายประเทศในสหภาพยุโรปต่างก็แสดงว่าจำต้องแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นสหภาพยุโรปจะใช้มาตรการตอบโต้

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯยังได้ออกมาตรการหลายประการที่สร้างความวุ่นวายให้กับห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศจีนและ “ร่างกฏหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์”

พิจารณาจากพฤติกรรมดังกล่าวของสหรัฐฯ ผู้แทนของจีนชี้ว่านโยบายที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯขัดต่อจุดยืนที่มีมาโดยตลอดของสหรัฐฯในประเด็นการอุดหนุนอุตสาหกรรมและการควบคุมการส่งออก สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯใช้ "สองมาตรฐาน" ในประเด็นกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายสหรัฐฯไม่เพียงแต่ขยายขอบเขต "ความมั่นคงแห่งชาติ" และดำเนินการควบคุมการส่งออกตามอำเภอใจซึ่งเข้าข่ายละเมิดกฎระเบียบของ WTO เท่านั้น หากยังใช้ "การใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน (long arm jurisdiction)" มาบีบบังคับภาคีสมาชิก WTO อื่นๆ เพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐฯ ในลักษณะที่ละเมิดกฎระเบียบของ WTO อีกด้วย ทั้งนี้ถือเป็นการกระทำที่ผลักดันลัทธิฝ่ายเดียวสู่ระดับสุดโต่ง เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยแห่งชาติในกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นพฤติกรรมการข่มเหงรังแกและความคิดแบบสงครามเย็นที่เด่นชัด มาตรการของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่ "การแยกส่วนและขาดการเชื่อมต่อ" ของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้อื่นและตัวเอง

จีนเน้นย้ำว่าสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี "การสร้างกำแพง" และ "การตัดขาดห่วงโซ่" โดยน้ำมือมนุษย์นั้นล้วนไม่ใช่ทางออก การกระทำที่ละเมิดหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจการตลาดเหล่านี้จะสร้างความวุ่นวายให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างร้ายแรง ฝ่ายจีนต่อต้านการนำเศรษฐกิจ การค้าและการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัวพันกับประเด็นการเมืองและอาวุธ จีนเร่งรัดให้สหรัฐฯรักษาคำพูดและปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา แก้ไขการกระทำที่ไม่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด เพื่อร่วมกันรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

การที่สหรัฐฯดำเนินนโยบายเศรษฐกิจลัทธิฝ่ายเดียวอย่างต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์ของตนเองนั้น ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศพันธมิตรด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาคมโลกคาดหวังให้สหรัฐฯ แก้ไขการกระทำที่ผิดและแบกรับความรับผิดชอบที่พึงมีในฐานะประเทศมหาอำนาจ


YIM/LU

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)