มองการสร้างความเจริญในชนบทของเขตซินเจียงจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

2022-02-24 08:42:17 | CMG
Share with:

ในอดีตหมู่บ้านที่อยู่ติดกับทะเลทรายทากลามากันทางตอนใต้ของเขตซินเจียงเป็นพื้นที่ยากจนสุดขีดในจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ซินเจียงได้ขจัดความยากจนสุดขีดเชิงประวัติศาสตร์

การหลุดพ้นจากความยากจนไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่และการต่อสู้ครั้งใหม่ บนหนทางใหม่แห่งการพัฒนาชนบทให้เจริญรุ่งเรือง ซินเจียงเสริมสร้างพื้นฐานแห่งการสร้างความเจริญ แก้ไขจุดอ่อนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ แสวงหาหนทางสู่ความเจริญ ยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมในชนบท หมู่บ้านเขตทะเลทรายจึงกําลังเขียนหน้าใหม่แห่งชีวิตที่ดีงาม

มองการสร้างความเจริญในชนบทของเขตซินเจียงจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

เสริมสร้างพื้นฐานแห่งการสร้างความเจริญ รักษามาตรฐานขั้นต่ำสุดอันได้แก่การไม่กลับคืนสู่ความยากจน

การรักษามาตรฐานขั้นต่ำสุดนั้นได้รับการสนับสนุนจากกลไกป้องกันการกลับคืนสู่ความยากจนที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ต้นปี 2021 ไหมถีไซ่ตี้ อู๋ปู้ลี่ไอ้ซาน ชาวหมู่บ้านเหยาเล่ออาเร่อซี ตำบลหลานกัน อําเภออวี๋เถียน เขตซินเจียง ป่วยหนักกะทันหันและต้องใช้เงินก้อนใหญ่ไปกับการรักษาพยาบาล แม้ว่านโยบายประกันสุขภาพจะครอบคลุมถึงค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่ แต่เขาในฐานะ "เสาหลัก" ของครอบครัวเมื่อไม่สามารถทํางานได้เนื่องจากความเจ็บป่วย จึงทําให้ครอบครัวที่เพิ่งหลุดพ้นจากความยากจนต้องเดือดร้อนอีกครั้ง

ในช่วงเวลาสําคัญนี้กลไกเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อป้องกันการกลับคืนสู่ความยากจนได้แสดงบทบาท เนื่องจากรายได้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านจึงมาที่บ้านได้ทันท่วงที พร้อมยื่นขอเงินอุดหนุนและมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของเขาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากลําบาก

"โชคดีที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 15,000 หยวน ช่วยแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลของผมและลดภาระของครอบครัว" ไหมถีไซ่ตี้ กล่าวด้วยความดีใจ

นี่คือการปฏิบัติที่ประสบความสําเร็จครั้งหนึ่งของกลไกเตือนภัยล่วงหน้าและกลไกช่วยเหลือเพื่อป้องกันการกลับคืนสู่ความยากจนของเขตซินเจียง ตามการวางแผนอย่างเป็นเอกภาพของเขตปกครองตนเองทุกพื้นที่ของซินเจียงได้ประกาศใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องของกลไกกำกับและช่วยเหลือเพื่อป้องกันการกลับคืนสู่ความยากจน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างการติดตามและช่วยเหลือครัวเรือนที่ขาดความมั่นคงในการหลุดพ้นความยากจน ครัวเรือนชายขอบที่ง่ายต่อการกลายเป็นผู้ยากจน และครัวเรือนที่เข้าสู่ภาวะยากจนรุนแรงอย่างกะทันหัน เพื่อรักษามาตรฐานขั้นต่ำสุดในการป้องกันการกลับไปสู่ความยากจนให้ได้

มองการสร้างความเจริญในชนบทของเขตซินเจียงจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

การรักษามาตรฐานขั้นต่ำสุดนั้นได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานในชนบทที่ได้รับการปรับปรุงดีขึ้น

เพื่อระลึกถึงวันเวลาในอดีต อะปู้ลี่หมี่ถี ไหน่มู่ถูลา ชาวบ้านโทวั่นฮั่นไอ้เร่อเค่อ ตําบลฮั่นไอ้เร่อเค่อ อำเภอเหอเถียน เขตซินเจียง ได้สร้าง "พิพิธภัณฑ์ชาวนา" ด้วยความสมัครใจ เครื่องมือการเกษตรแบบเก่า ล้อไม้ และของใช้ประจําวันที่วางอยู่ทั้งในบ้านและลานบ้านนั้น ดูแตกต่างจากบ้านที่มั่งคั่งในปัจจุบันของเขาอย่างเด่นชัด

บิดาของอะปู้ลี่หมี่ถีเคยบอกเขาว่า วันเวลาที่ยากจนในอดีตนั้นได้ฝังอยู่ในความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนได้ โดยเฉพาะฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุด เพราะบ้านดินมักจะมีลมหนาวเหน็บพัดเข้าพัดออกไปทั่ว มือและใบหน้าหนาวจนเป็นสีแดง ทั้งครอบครัวได้แต่นั่งล้อมวงอยู่บน “ถู่คั่ง” (แท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ก่อด้วยก้อนดินตากแห้ง หรืออิฐสําหรับการนอนหลับในพื้นที่ชนบททางภาคเหนือของจีน โดยด้านล่างมีช่องที่เชื่อมต่อกับปล่องไฟ สามารถก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่นได้)

ปัจจุบันบ้านพักที่สร้างขึ้นด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งกว้างใหญ่และสว่าง เครื่องทําความร้อนไฟฟ้าทั้งให้ความอบอุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรดาชาวบ้านปลูกผักและผลไม้ในลานบ้าน ทั้งยังเลี้ยงไก่และแกะเต็มคอกหลังบ้าน

อะปู้ลี่หมี่ถี กล่าวว่า "ตอนนี้หมู่บ้านมีถนนลาดยางแล้ว นับวันยิ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น พิพิธภัณฑ์ชาวนาก็ได้สร้างขึ้นแล้วด้วยซึ่งในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่เคยกล้าแม้แต่จะคิด”

เท่าที่ทราบทางรถไฟที่ล้อมรอบทะเลทรายทากลามากันจะเปิดเดินรถได้ตลอดสายในไม่ช้า โครงการก๊าซธรรมชาติเพื่อประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของเขตซินเจียงกำลังดําเนินไปอย่างราบรื่น ช่วยให้ประชาชนหลายล้านครัวเรือนไม่ต้องเก็บฟืนเพื่อก่อไฟอีกต่อไป ความยากลําบากในการเดินทางและใช้บริการไฟฟ้า น้ำ การสื่อสาร และด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัญหาคอขวดที่จํากัดการพัฒนาพื้นที่ยากจนมาเป็นเวลานานต่างก็ได้รับการแก้ไขตามลำดับ

มองการสร้างความเจริญในชนบทของเขตซินเจียงจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

การรักษามาตรฐานขั้นต่ำสุดนั้นได้รับการสนับสนุนจากบริการสาธารณะที่ได้ยกระดับสูงขึ้นอย่างเด่นชัด

เมื่อเดินเข้าไปในแต่ละตําบลของซินเจียงมักจะได้ยินเสียงอ่านหนังสือของเด็ก ๆ ในโรงเรียนประถม เสียงเครื่องจักรในเวิร์กช็อปบรรเทาความยากจนในชนบท รวมทั้งเสียงหัวเราะจากบ้านของชาวบ้านชนเผ่าต่าง ๆ

เบื้องหลังเสียงเหล่านี้ คือ การยกระดับสูงขึ้นอย่างมากด้านบริการสาธารณะในท้องที่ต่าง ๆ ของซินเจียง เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล วัฒนธรรม การประกันสังคม และอื่น ๆ

"โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน ฯลฯ ล้วนสร้างไว้หน้าบ้าน" ไอ้ลาฮั่น ถูเอ๋อร์ซุน ชาวตำบลเชี่ยเร่อเค่อ อำเภอซาเชอ เขตซินเจียง กล่าวว่า ลูก ๆ ของเธอเรียนอยู่ในตำบล สามีก็ทํางานในตำบล ครอบครัวมีรายได้ที่มั่นคงและมีความสุข ปัจจุบันในตำบลเชี่ยเร่อเค่อมีมากกว่า 200 ครัวเรือนได้บรรลุการเพิ่มรายได้จากการทำงานใกล้บ้าน

กุญแจสําคัญในการสร้างความเจริญในชนบทคือการพัฒนาอุตสาหกรรม

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมชนบทของซินเจียงได้รับการยกระดับ การเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงพืช-สัตว์แบบดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมที่มีเอกลักษณ์และการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ การบริหารจัดการด้านการผลิตที่ทันสมัยได้กลายเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น อุตสาหกรรมที่ 1 อุตสาหกรรมที่ 2 และอุตสาหกรรมที่ 3 เร่งการหลอมรวมเข้าด้วยกัน อุตสาหกรรมชนบทที่ขยายตัวและเข้มแข็งขึ้นกำลังกลายเป็นเสาหลักที่สําคัญสําหรับการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในเขตชนบท

ตัวอย่างเช่น อำเภอเย่เฉิงในเขตซินเจียงมีพื้นที่ปลูกวอลนัท 580,000 โหม่ว หรือ ราว 241,667 ไร่ ในปี 2021 มีผลผลิตวอลนัทตลอดปี 120,000 ตัน ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นและเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชน

ปัจจุบันอำเภอเย่เฉิงมีโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ "อำเภอมีวิสาหกิจชั้นนํา ตำบลมีฐานการเพาะปลูก หมู่บ้านมีสหกรณ์" ทั่วทั้งอําเภอมี "เวิร์กช็อปชนบท" มากกว่า 40 แห่ง ดึงดูดแรงงานส่วนเกินในชนบทกว่า 3,000 คนเข้าทํางานใกล้บ้าน ถุงเงินของชาวนาหนักขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับเรื่องราวของวอลนัท แอปเปิ้ลเมืองอาเค่อซู สาลี่หอมเมืองคูเอ่อเล่อร์ และองุ่นเมืองถูหลู่แฟน เป็นต้น ผลไม้พื้นเมืองที่เพาะปลูกตามเขตล้อมรอบพื้นที่แอ่งกระทะถาหลี่มู่ก็ได้รับการยกระดับมากขึ้นเช่นกัน

มองการสร้างความเจริญในชนบทของเขตซินเจียงจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

วาดพิมพ์เขียวสร้างความเจริญในชนบท หมู่บ้านเล็กกลางทะเลทรายมีชีวิตชีวา

หมู่บ้านซินชุน ตำบลต๋าลี่ย่าปู้อี อำเภออวี๋เถียน เมืองเหอเถียน เขตซินเจียง มีอายุเพียง "สองปี" เป็นหมู่บ้านใหม่ที่เกิดจากโครงการย้ายถิ่นฐานเพื่อบรรเทาความยากจน หมู่บ้านในอดีตอยู่ห่างไกลจากอำเภอเมือง ลึกเข้าไปในทะเลทรายมากกว่า 200 กิโลเมตร ไม่มีถนนเชื่อมถึง ไม่มีระบบน้ำประปา และไม่ได้รวมเข้าในเครือข่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงถูกขนานนามว่า "ชนเผ่าทะเลทรายแห่งสุดท้าย"

"หมู่บ้านเก่าที่ย้ายออกมาแล้วจะทำยังไงต่อล่ะ?" แหล่งที่ตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองเพียง 90 กิโลเมตร แต่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งอันยาวนานคําถามนี้วนเวียนอยู่ในสมองของเจี่ย ฉุนเผิง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำตำบลต๋าลี่ย่าปู้อี

"เราตัดสินใจที่จะคงไว้ซึ่งสภาพเดิมของหมู่บ้านเก่า พยายามปกป้องวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ตลอดจนทัศนียภาพทางธรรมชาติของหมู่บ้านเก่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ชาวบ้านสามารถมองเห็น ‘ปาจื่อฝาง’ ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยแบบเก่า สามารถมองเห็น ‘โส่วยาจิ่ง’ ซึ่งเป็นบ่อน้ำดื่มแบบโยกด้วยมือ และสามารถจดจำความเป็นอดีตของหมู่บ้านได้ นอกจากนั้นยังพัฒนาการเลี้ยงปศุสัตว์และการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม พร้อมไปกับการพัฒนาการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ร่วมสมัยอย่างกล้าหาญในบริเวณสถานที่ตั้งถิ่นฐานใหม่" เจี่ย ฉุนเผิง กล่าว

ปัจจุบัน “ต้าหยุน” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรจีนที่ได้รับการขนานนามว่า “โสมทะเลทราย” ที่ปลูกในหมู่บ้านได้ขุดเก็บเกี่ยวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สหกรณ์เลี้ยงปศุสัตว์มีแกะเลี้ยงถึง 20,000 ตัว เกษตรกรและชาวปศุสัตว์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้นมีมากกว่า 30 คน

ในขณะเดียวกันแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้โอบล้อมไปด้วยสีเขียว ต้นไม้ “เสี่ยวหูหยาง” ที่ปลูกใหม่และป่าไม้ “ซูซูหลิน” หลายพันโหม่วที่ปลูกในปี 2020 รวมทั้งแม่น้ำเค่อหลี่ย่าที่ไหลเลี้ยวลดคดเคี้ยวได้กลายเป็นทัศนียภาพสะดุดตาท่ามกลางทะเลทรายสีเหลือง

มองการสร้างความเจริญในชนบทของเขตซินเจียงจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

สภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วบวกกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าอยู่และมีระบบนิเวศที่ดีได้ดึงดูดคนหนุ่มสาวมากขึ้นที่ยินดีทำงานในชนบท

ถูซุ่นหมามู่ถี อีหมิง วัย 31 ปี ย้ายจากภูเขามาอยู่ที่ตําบลอาเค่อถ่าสือ อําเภอเย่เฉิง ในปี 2019 เดิมเขาเป็นคนเลี้ยงแกะต่อมาเริ่มเรียนรู้เทคนิคการปลูกผัก เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเขาเช่าโรงเรือน 7 โรงในราคา 5,000 หยวนต่อโรงต่อปี เขาใช้ 4 โรงเรือนปลูกมะเขือเทศส่วนอีก 3 โรงเรือนปลูกแตงโม แคนตาลูป และผักนอกฤดูกาล

"เมื่อสองวันก่อนผมเพิ่งเอามะเขือเทศที่ได้เวลาเก็บเกี่ยวอีกครั้งไปขาย รายได้ต่อปีของผมมากกว่า 50,000 หยวน ปีนี้ผมจะทําสัญญาเช่าโรงเรือนเพิ่มอีก 3 โรง" ถูซุ่นหมามู่ถี กล่าวว่า หลังจากย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่นี่ทางหมู่บ้านได้จัดฝึกอบรมประเภทต่าง ๆ เป็นประจํา ขอเพียงใช้ความพยายามก็ย่อมสร้างความร่ำรวยได้อย่างแน่นอน

ตำบลอาเค่อถ่าสือได้สร้างฐานการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เวิร์กช็อปชนบท ร้านค้าตามถนนและตลาดเกษตรกร สภาพการผลิตและดำรงชีวิตได้รับการปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรและชาวปศุสัตว์ 14,000 คนที่ย้ายเข้ามาตั้งแต่ปี 2018 ได้ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อย่างมีความสุข

ปัจจุบันประชาชนทุกชนเผ่าในซินเจียงกําลังฟันฝ่าต่อสู้ต่อไป พวกเขากำลังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเสริมสร้างและขยายผลลัพธ์แห่งการขจัดความยากจนเชื่อมต่อกับการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ

TIM/LU 

  • เสียงข่าวประจำวัน (28-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (28-03-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (28-03-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-03-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (27-03-2567)

陆永江