บริษัท China State Railway Group Co., Ltd. เปิดเผยว่าจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม ทางรถไฟจีน-ลาวได้เปิดให้บริการครบรอบ 2 ปีแล้ว โดยขนส่งผู้โดยสารรวม 24.2 ล้านคน และสินค้า 29.1 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทที่เป็น “ช่องทางทองคำ” ด้วยความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพิ่มพลังใหม่ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาค
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้โดยสารของทางรถไฟจีน-ลาวเพิ่มขึ้นจากมากกว่า 600,000 คน ต่อเดือนในช่วงต้น มาเป็นมากกว่า 1.1 ล้านคนในปัจจุบัน จำนวนรถไฟบรรทุกสินค้าข้ามพรมแดนที่ให้บริการทุกวันเพิ่มขึ้นจาก 2 ขบวนในช่วงแรกเป็น 14 ขบวนในปัจจุบัน มีรถไฟบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ “สายด่วนแม่น้ำล้านช้าง-โขง” 400 ขบวน และมีการขนส่งสินค้าไปยัง 12 ประเทศ รวมถึงลาว ไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ และเมืองใหญ่ๆ ใน 31 มณฑลและเขตปกครองตนเองภายในประเทศจีน
มีรายงานข่าวระบุว่าวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา รถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ "จีน-ลาว + สายด่วนแม่น้ำล้านช้าง-โขง" ของทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งบรรทุกแร่อโลหะของรัสเซียจำนวน 32 ตู้ เดินทางออกจากสถานีโมฮันของจีน ถือเป็นการเปิดช่องทางการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศแบบ "ทางรถไฟจีน-ลาว+รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป" อย่างเป็นทางการ โดยรถไฟขบวนพิเศษนี้ออกจากมอสโกของรัสเซีย เข้าสู่จีนผ่านหมั่นโจวหลี่ ไปสถานีเฉิงเซียงของมณฑลเสฉวน จากนั้นจึงผ่านทางรถไฟเฉิงตู-คุนหมิง ทางรถไฟจีน-ลาว และออกจากประเทศจีนที่สถานีโมฮัน ในที่สุดก็เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาประมาณ 22 วัน เมื่อเทียบกับเส้นทางเดินเรือแบบเดิมแล้วช่วยลดเวลาได้ประมาณ 20 วัน
บริษัท China State Railway Group Co., Ltd. กำลังแสวงหารูปแบบใหม่ในการขนส่งระหว่างประเทศใหม่ๆ เช่น "ทางรถไฟจีน-ลาว + รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป" ลดเวลาการขนส่งจากลาว ไทย และประเทศอื่นๆ ไปยังยุโรปให้เหลือเพียง 15 วัน
Bo/Chu/Zhou