เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศประกาศจะร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้จัดการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงที่เมืองแดจอนของเกาหลีใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทั่วโลกร่วมกันศึกษาประสบการณ์ความสำเร็จของเศรษฐกิจเอเซีย
ก่อนเกิดวิกฤตการเงิน การพัฒนาของเศรษฐกิจเอเซียเคยได้รับความชื่นชมจากทั่วโลก และได้รับการจับตามองว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของเอเซีย แต่ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีเหลือเชื่อนั้น ก็ได้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1997 และแพร่ระบาดไปทั่วเอเซียอย่างรวดเร็ว
ต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนี้ ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาใหม่ในเอเซียจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศไม่ได้ช่วยฟื้นฟูตลาดของเอเซียอย่างแท้จริง เงื่อนไขการให้ช่วยเหลือที่เข้มงวดกลับยังทำให้ประเทศที่ขอความช่วยเหลือต้องลดรายจ่ายให้น้อยลงอีก ซึ่งไม่เพียงแต่ทวีความเดือดร้อนของประชาชนให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หากยังสร้างปัญหาแทรกซ้อนที่จะตกค้างไว้เป็นเวลานานอีกด้วย
วิกฤตการเงินทำให้ประเทศต่างๆในเอเซียได้รับประสบการณ์อย่างมาก หลังจากผ่านพ้นวิกฤตแล้ว ประเทศต่างๆตกลงจะจัดตั้งกลไกป้องกันวิกฤตทางเศรษฐกิจด้วยการปรับปรุงนโยบาย การเงินและการบริหารธุรกิจ เสริมการควบคุมดูแลตลาดทุน และปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกอย่างแน่วแน่ กลายเป็นมาตรการที่ประเทศต่างๆนิยมใช้กันโดยทั่วไป ขณะเดียวกัน ประเทศในเอเซียตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมความร่วมมือ กลไกความร่วมมือจึงปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งกลไกแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้กรอบข้อริเริ่มเชียงใหม่ เขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีและพหุภาคี ล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ในการฟื้นฟูความเจริญของเศรษฐกิจประเทศเอเซีย
เมื่อปี 2008 ขณะที่เอเซียกำลังฟื้นตัวก็ได้รับการทดสอบจากวิกฤตการเงินอีกครั้ง สิ่งที่แตกต่างกันคือ คราวนี้เอเซียกับยุโรปได้รับการทดสอบพร้อมกัน แต่ในที่สุด เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯเกิดความเสียหายอย่างหนัก ส่วนเศรษฐกิจเอเซียผ่านการขึ้นๆลงๆในช่วงต้นแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตการณ์ สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ แรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเซียกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ความต้องการภายในประเทศเริ่มกลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจเอเซีย องค์กรการเงินต่างๆในเอเซียก็รอดตัวได้ในวิกฤตการเงิน และกลายเป็นหลักประกันอันเข้มแข็งที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ในรอบปี 2009 การเติบโตของเศรษฐกิจเอเซียได้สร้างคุณูปการต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าภูมิภาคอื่นเป็นครั้งแรก
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประสบการณ์ด้านการบริหารเศรษฐกิจในเอเซียได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง นายโดมินิค สเตราส์-คาห์น' ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ในการกำหนดนโยบายของประเทศเอเซียเป็นประสบการณ์ที่ประเทศพัฒนาควรศึกษา ประสบการณ์ของเอเซียคืออะไร ผู้เชี่ยวชาญกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่า ประสบการณ์ที่ควรแก่การศึกษาเรียนรู้คือ กรอบเศรษฐกิจมหภาคที่มั่นคง เป็นงบดุลของบริษัทและองค์กรการเงินที่มีประสิทธิภาพ มีการบริหารเศรษฐกิจอย่างดีและมีธุรกิจภาคเอกชนที่ตื่นตัว พร้อมยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการส่งเสริมการส่งออก ด้วยการพัฒนามาเป็นเวลา 13 ปี เอเซียกำลังสร้างภาพลักษณะใหม่ที่โดดเด่นต่อทั่วโลก
Ton/Min/Sun