ผู้สื่อข่าวไทยเจาะข่าวปักกิ่ง เฉิงตู และหนานจิง
  2011-09-29 16:26:53  cri

ท่านผู้ฟังครับ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานีวิทยุซีอาร์ไอ และสื่อมวลชนทั้งจีนและต่างประเทศอีกหลายสำนักร่วมกันจัดกิจกรรมประกวด "10 อันดับเมืองวัฒนธรรมของจีน" โดยเชิญผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกร่วมลงคะแนน เพื่อคัดเลือก "10 อันดับเมืองวัฒนธรรมของจีน" เมื่อเร็วๆ นี้ ซีอาร์ไอได้ประกาศผลการคัดเลือกของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก เมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ ปักกิ่ง เฉิงตู ซีอัน หนานจิง ลาซา ต้าหลี่ กว่างโจว กุ้ยหลิน ผิงเหยา และชิงเต่า หลังจากนั้น ซีอาร์ถือโอกาสนี้นำพาผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ร่วมในกิจกรรมครั้งไปเยี่ยมชมและทำข่าวที่เมืองปักกิ่ง เฉิงตู หนานจิง และซูโจว สำหรับสื่อไทย "ผู้จัดการออนไลน์" ได้ร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ โดยผู้จัดการออนไลน์ได้ส่งนายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล ผู้ช่วยบรรณาธิการฝ่ายข่าวจีนเดินทางมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ วันนี้ เราได้เชิญนายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล ผู้ช่วยบรรณาธิการฝ่ายข่าวจีน ผู้จัดการออนไลน์มาพูดคุยถึงเรื่องนี้ ครับ

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

สวัสดีครับ คุณเกรียงไกร เป็นอย่างไรบ้างครับ มาจีนครั้งนี้ ไปเยี่ยมชมและทำข่าววัฒนธรรมของจีน หลายเมืองเลย คุณเกรียงไกร รู้สึกอย่างไรบ้างครับ

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"สวัสดีครับ การเดินทางครั้งนี้ ก็ไปร่วมกับเพื่อนผู้สื่อข่าวต่างชาติอีก 13 ชาติ ก็เรียกว่าเรามากันต่างวัฒนธรรมทีเดียว ร่วมขบวนไปด้วยกัน จากปักกิ่ง ซึ่งก็ได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลเมืองวัฒนธรรมของจีน ด้วย ซึ่งซีอาร์ไอคงรายงานไปก่อนแล้ว

สำหรับช่วงเวลาที่ได้เที่ยวชมวัฒนธรรมจริงๆ นั้น เรามีเวลาหนึ่งวันในปักกิ่ง ซึ่งไกด์เริ่มโหมโรงบอกกับผู้สื่อข่าวต่างชาติอย่างพวกเราแบบว่า ใครมาปักกิ่งจะต้องทำสามอย่างนี้ ถึงจะได้ชื่อว่ามา คือหนึ่ง เดินบนกำแพงเมืองจีน สอง เข้าชมพระราชวังต้องห้าม และสาม ชิมเป็ดปักกิ่ง ยิ่งพูดอย่างนี้ พวกเรายิ่งเสียดายเพราะว่าเรามีเวลาในปักกิ่งเพียงวันเดียว ไม่ใช่แบบ ห้าวันสี่คืนเป็นอย่างต่ำ ดังนั้นเพื่อให้ได้ไปหลายๆ ที่เลยจัดทริปพาเราไปชมสนามกีฬารังนก หรือที่มีชื่อทางการว่า สนามกีฬาแห่งชาติกรุงปักกิ่ง เป็นสนามกีฬาหลักที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ก่อนจะมาทานเป็ดปักกิ่งร้านดังของปักกิ่ง และยังได้ไปชมงานเปิด การท่องเที่ยวนานาชาติ กรุงปักกิ่งฯ (ครั้งที่ 13)

ในใจก็ยังมีแอบนึกถึงกำแพงเมืองจีน พระราชวังฤดูร้อนและจตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ความจริงเวลาไปเดินในสนามกีฬารังนก ก็พอรู้สึกถึงการสร้างวัฒนธรรมยุคใหม่ของจีน ด้วยการพัฒนาคุณภาพของคนผ่านกีฬา ซึ่งก็ไม่ต่างจากเจตนารมณ์สร้างชาติและป้องกันประเทศด้วยกำแพงหนาใหญ่ในประวัติศาสตร์

ทุกวันนี้ เพียงชั่วอายุคนรุ่นเดียว จีนได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถลบคำกล่าวและทัศนคติในอดีตได้หมด ดังนั้น ก็ต้องถือว่าการได้มาเห็นสนามกีฬาฯ ที่ซีอาร์ไอพาเรามาชมนี่แหล่ะ ก็เหมือนได้เห็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ของจีนยุคนี้

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

เท่าที่ผ่านมา ได้ร่วมทำข่าวกิจกรรมเทศกาลท่องเที่ยวของแต่ละเมืองด้วยใช่มั๊ยครับ

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"ครับ คณะนักข่าวได้มีโอกาสเข้าร่วมชมในพิธีเปิดการท่องเที่ยวนานาชาติ กรุงปักกิ่งฯ (ครั้งที่ 13) ซึ่งจัดได้อย่างกระชับ สวย และสนุกทีเดียว ด้วยชุดการแสดงนานาชาติ นับๆ แล้ว เกือบ 20 ชุด มีรูปแบบแตกต่างกันมากทั้งแบบตะวันตก ตะวันออก โบราณสูงอายุ ไปจนถึงทันสมัยวัยรุ่น แต่การจัดชุดการแสดงฯ แบบต่อเนื่องไม่เยิ่นเย้อ ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และชุดการแสดงที่ตอนแรกดูว่ามีเอกลักษณ์แตกต่างไม่เข้าพวก กลับกลมกลืนกัน เกือบสองชั่วโมงของการแสดงในพิธีเปิดฯ

สิ่งหนึ่งที่ได้ประทับใจระหว่างการเดินทางในปักกิ่งคือ ต้นไม้และสวนเกาะเยอะมากในถนนที่เราผ่าน อากาศก็สดชื่น แต่น่าเสียดายในฐานะของคนต่างถิ่น ซึ่งอยากสูดอากาศเย็นๆ ปักกิ่งทั้งวัน แต่บางช่วงที่เดินๆ ก็อาจจะสูดไม่เต็มปอดนัก เพราะคนจีนสูบบุหรี่กันเยอะเหมือนกัน เดินไปทุกช่วงก็จะพบตลอด เรามาเที่ยวก็อาจจะไม่ชินเหมือนคนที่อยู่กันทุกวันครับ (ซึ่งคงเป็นปัญหาที่ทางการปักกิ่งคงกำลังพิจารณาอยู่)

แต่ลมหายใจปักกิ่งจริงๆ อาจจะอยู่ที่ถนนหนทางโบราณ (หู่ถง) ซึ่งเป็นพื้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตมากก่อน และยังคงสืบทอดความเป็นชุมชนมาจนปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนพัฒนาดูแลให้เป็นแหล่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย ก็น่าศึกษาว่าการจะรักษาอดีต อย่างมีอนาคต ก็คงต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการรักษาสมดุลทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

นิดหนึ่งว่า หู่ถง นี้ สวยงามทั้งกลางวันกลางคืนเลย ตอนกลางวันเราก็ไปดู ตอนกลางคืนเราก็มานั่งเรือพายชมวิวของร้านรวงริมฝั่ง แม้จะเป็นกิจกรรมเพียงวันเดียว แต่ก็รู้สึกว่า ลมหายใจทางวัฒนธรรมและผู้คน ที่ปักกิ่งนี้ ยังคงมีอยู่ ก็สมแล้วกับที่ ได้รับการโหวตฯ ด้วยคะแนนมากที่สุด ให้เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมจีน ปีนี้

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

น่าเสียดายนะครับ กิจกรรมครั้งนี้ออกจะแน่น จึงทำให้มีเวลาอยู่ที่ปักกิ่งน้อยไปหน่อย เพียงวันเดียว เพราะต้องบินไปที่เฉิงตูในวันรุ่งขึ้นใช่มั๋ยครับ

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"ไม่เสียดายครับ เพราะการได้มาพบเห็นวัฒนธรรมของจีน ก็ถือเป็นกำไรชีวิตมากกว่า"

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

แล้วที่เฉิงตู หล่ะครับ คงได้อยู่นานหน่อย

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"ครับ คนที่อ่านข่าวจีน ได้รู้เกี่ยวกับการพัฒนาบ้านเมืองและเศรษฐกิจ จะทราบว่า โดยปกติแล้ว ส่วนใหญ่ คำว่า "น่าอยู่" มักไม่ค่อยจะมีใครใช้คู่กับคำว่า มหานคร หรือเมืองระดับเมืองเอก แต่ว่ากันว่า หากจะมีสักเมืองสองเมืองในจีน หนึ่งในนั้นก็คือ เฉิงตู ซึ่งดัชนีความสุข ความพอใจของคนในพื้นที่ติดอันดับต้นๆ เสมอ

ทริป "วันแรก" ในเฉิงตู ซีอาร์ไอได้พากลุ่มผู้สื่อข่าวต่างชาติ ขึ้นเครื่องบินออกจากปักกิ่ง บินนานเกือบ สามชั่วโมงทีเดียว คณะฯ เข้าเก็บของแล้วก็พากันไปศาลเจ้า อู่โหวจื่อ หรือศาลเจ้าขงเบ้ง

สี่งที่ได้สัมผัส ตอนผ่านกำแพงประตูโบราณเข้าไปในศาลเจ้าขงเบ้ง คือความรู้สึกว่า ลอดไปสู่อดีต ซึ่งเป็นเวลาที่อาณาบริเวณนี้ เคยเกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่ต่อมากลายเป็นบ่อน้ำใหญ่แห่งวัฒนธรรม ยังคงไม่เหือดแห้งจนทุกวันนี้

ประเด็นความคิด ปรัชญาและสัจธรรมต่างๆ ของวัฒนธรรมสามก๊ก นับเป็นหนึ่งในสายธารวัฒนธรรมที่สำคัญของจีน ตอนที่ได้เห็น ศิลาจารึกโบราณสมัยราชวงศ์ถัง ขนาดสูงเกือบ 3 เมตร ในศาลเจ้าแห่งนี้คือ "ศิลาจารึก3สุดยอด" ที่ว่ากันว่าสุดยอดนั้น เพราะเป็นงานระดับ "3เทพแห่งยุคถัง" ประกอบด้วยบทกวีของเผยตู้ อัครเสนาบดีอันเลื่องชื่อ ลายพู่กันอักษรจีนของหลิ่วกงเชา นักคัดพู่กันเอก โดยมี หลี่เจี้ยน มือแกะสลักสุดยอดแห่งยุคถัง เป็นผู้จารึกบนศิลาด้วยตนเอง "ศิลาจารึกสามสุดยอด" นับเป็นงานที่เกิดมาเพื่อจะอยู่เป็นอมตะ ทั้งคุณค่า ฝีมือผลงาน และเนื้อหาถ้อยคำอันอยู่เหนือกาลเวลา

สิ่งหนึ่งที่ใครก็ยอมรับมาเสมอ ก็คือวัฒนธรรมในการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของจีน ซึ่งผมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในองค์ความรู้ต่างๆ ของจีน ที่โลกนี้ มีเพียงไม่กี่ชาติ ไม่กี่วัฒนธรรม

ที่เฉิงตู นี้คณะนักข่าวฯ ได้รับการต้อนรับจากเจ้าบ้าน ซึ่งจัดงานต้อนรับพร้อมกับกล่าวแนะนำให้เรารู้จักเฉิงตูมากยิ่งขึ้น นับเป็นงานต้อนรับที่อบอุ่น และยิ่งได้หัวใจนักข่าวต่างประเทศกัน เมื่อเด็กๆ ชั้นประถม ในเฉิงตู พร้อมกับผู้ปกครองฯ ได้เตรียมภาพเขียน และงานศิลปะหัตถกรรมขนาดใหญ่ (สำหรับมือน้อยๆ ของเด็ก) ไว้ให้กับนักข่าวอย่างพวกเรา ใส่กระบอกขึ้นเครื่องกลับบ้าน ที่ผมว่าดีอีกอย่างคือ การให้เด็กมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม และทำได้อย่างไม่รู้สึกว่าฝืน และแอบใส่ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองลงไปกันได้ด้วย

เวลาไปไหน ผมชอบดูวัฒนธรรมริมถนนของแต่ละเมืองด้วย บางเมืองเราถึงกลับได้กลิ่นอายของเมืองซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตาม ธรรมชาติ สิ่งก่อสร้าง หรือผู้คน อย่างที่ปักกิ่งนี่ผมยังได้เห็นคนแก่ๆ นั่งเล่นหมากล้อมริมถนน ได้เห็นคนนั่งใช้เวลาในสวนเกาะกลางถนนซึ่งมีอยู่ไม่น้อย

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

เหรอครับ งั้นที่เฉิงตูนี้ คุณเกรียงไกร พบเห็นอะไรบ้าง

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"ที่เฉิงตู หลังจากการแสดงนาฏศิลป์ชุดใหญ่ โชว์ปาหี่ ละครเงามือ กับ "งิ้วเปลี่ยนหน้ากากเสฉวน" ในร้านอาหารซึ่งแม้จะเป็นความบันเทิงวัฒนธรรมของอดีต พอจะกลับที่พักตอนราวๆ สามทุ่ม ตามหัวมุมทางเท้าริมถนนที่พอจะมีลานกว้างๆ ชาวเฉิงตู ก็ยังคงมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ชาวเฉิงตูสูงวัยกลุ่มใหญ่ มีนั่งจับกลุ่มเล่นหมากรุก กับไพ่นกกระจอก ขณะที่กลุ่มใหญ่กว่านั้น ออกมาเต้นลีลาศ เปิดฟลอร์ริมทางเท้า ผ่อนคลายก่อนสิ้นสุดวัน วัฒนธรรมแบบนี้นี่เอง ที่ใครๆ ก็ พูดถึงที่นี่ว่า "เฉิงตู ไอเลิฟยู"

พอวันที่สองนั้น ซีอาร์ไอ ก็พาเรา "ศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์ แพนด้า" ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อสวนสัตว์นั้นอาจจะไม่ต่างกัน เพราะที่คุ้นเคยก็คือจะเป็นสวนสัตว์ที่เอาสัตว์มารวมไว้โดยไม่สนใจว่าจะอยู่อย่างไร เน้นศูนย์กลางอยู่ที่คนดูเข้าว่า เอาเข้าจริง ก็เลยเป็นแบบว่า คนส่วนใหญ่ขอไปดู (ครั้งเดียวพอ) และถ้าลูกไม่ขอ ก็คงไม่เข้าไปอีก ซึ่งลูกๆ ก็มักไม่ขอแล้วซะด้วย

แต่ศูนย์วิจัยฯ แพนด้าที่เฉิงตูนี้ ต่างกัน (ในเสฉวนฯ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดแพนด้าร้อยละ 80 ของโลก มีศูนย์วิจัยแพนด้าอยู่มาก) สร้างเมื่อปี 1987 โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือแพนด้าไม่กี่ตัวให้ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ถิ่นอาศัยฯ และอยู่ห่างจากตัวเมืองเฉิงตูมาราว 10 `กม.เท่านั้น

ที่ว่าต่างคือ บรรยากาศการเดินในศูนย์ฯ ซึ่งจริงๆ ก็คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ดีๆ นี่เอง เป็นการสร้างขึ้นโดยให้ "สัตว์" เป็นศูนย์กลาง และจัดเส้นทางเดินชมไว้อย่างแคบๆ และมีความเป็นธรรมชาติ แม้จะทำให้เห็นแพนด้าไม่ง่ายเหมือนอยู่ในกรง แต่เท่าที่ดู ทุกๆ คนก็มีความสุขกับการได้เห็น และได้หา ขณะเด็กๆ ก็น่าจะเดินดูได้นาน (ถ้าไม่กลัวเป็นหวัดเพราะอากาศที่หนาวเย็นขนาดดอยสูงในไทย )

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ดูว่าจะเป็นมาตรฐานของการท่องเที่ยวจีนแล้วที่จะใช้เฉพาะรถไฟฟ้า รับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งเงียบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เงียบจนเราไม่รู้ว่ามา จนคนขับต้องบีบแตรกัน

มีจุดหนึ่งที่คิดว่า ถ้าทางการท้องถิ่นจีนดูแลหรือปรับปรุง เช่น ห้องจัดแสดง"นิทรรศการแพนด้า" โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้ศูนย์แห่งนี้ ดึงดูดเข้าขั้นสร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ได้ทีเดียว

มีวลีหนึ่ง ผมเหลือบเห็นถุงกระดาษเขียนไว้ "Chengdu Never say Goodbye" ยังรู้สึกว่าเป็นก็อปปี้ไรต์ที่ดี ค่อนข้างมีปฎิสัมพันธ์ง่ายๆ และเป็นมิตร พอมาดูสวนแพนด้า ก็รู้สึกว่าใช้กับที่นี่ได้นะครับ แพนด้าเฉิงตู เนเวอร์เซย์ กู้ดบาย

มีสถานที่อีกแห่งที่หลายคนน่าจะได้ไปเห็น คือ "เขื่อนตู้เจียงเอี้ยน" ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น ค่อนข้างเชื่อว่า ภาพวาดแนวเทือกเขาชิงเฉิงซาน กับแม่น้ำหมินเจียงในวันนี้ ก็คือภาพวาดเดียวกันที่ยังคงใกล้เคียงกับอดีตเมื่อ 2,000 ปีก่อน และภายใต้การดูแลอนุรักษ์ของรัฐบาลจีนร่วมกับสถานะของการเป็นมรดกโลก คิดว่าที่นี่จะยังรักษาภาพเดิมนี้ไปถึงคนรุ่นต่อๆ ไปได้อีกนาน

ความรู้ที่เรานักข่าวได้จากที่นี่ คือ "ทำนบกั้นน้ำ หรือเขื่อนตูเจียงเอี้ยน" นี้ นับเป็นระบบโยธาโบราณซึ่งออกแบบเพื่อแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และขาดน้ำในฤดูแล้ง เพราะไหลผ่านพื้นที่ราบไป ท่านหลี่ปิง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเสฉวน ก็เป็นผู้ออกแบบฯ เขื่อน เพื่อต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเมือง จนในที่สุดริเริ่มสร้างเขื่อนและขุดคลองรองรับและเบี่ยงสายน้ำสองสายที่ถูกแบ่งออกนี้ได้สำเร็จ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ผสานกับหลักการแนวคิดของเต๋า ซึ่งกล่าวถึงการเคารพนบนอบต่อธรรมชาติ ไม่ฝืนต้านหรือบังคับ และแนวคิดแบบเต๋านี้ ก็เป็นอู่วัฒนธรรมของจีนจนทุกวันนี้

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

ทราบว่า คุณเกรียงไกร และทางคณะฯ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม "เถียนฝู่ซอฟต์แวร์ปาร์ค"และพูดคุยกับผู้บริหารด้วย เป็นอย่างไรบ้างครับ

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"ครับ ในทริปในวันที่สาม เฉิงตู ผมว่า เราได้เห็นความทันสมัยของสองกาลเวลา เพราะตอนเช้า ได้เดินทางไปที่ เถียนฝู่ ซอฟต์แวร์ปาร์ก ไอทีซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างถึง 46 ตร.กม. ซึ่งก็คือเมืองนวัตกรรมเราดีๆ นี่เอง มีระบบโครงสร้างปัจจัยสาธารณูปโภค บริการสาธารณะต่างๆ ซึ่งทราบว่า ลงทุนเป็นพันล้านหยวน เพื่อที่จะสามารถผลักดันในกิจกรรมของที่นี่ดำเนินไปได้อย่างมีพลวัตรของเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในปาร์ค แห่งนี้ เป็นศูนย์รวมของการวิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเป็นคลัสเตอร์ของหน่วยงาน R&D มากกว่า 70 แห่ง มีผู้ประกอบการด้านไอทีซอฟต์แวร์ ในเวลานี้ รวมแล้วมากกว่า 30 ราย

ในเฉิงตูนี่ ว่ากันในมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอที มากกว่า 1.65 ล้านคนแล้ว และเฉพาะใน เถียนฝู่ฯ ก็มีคนทำงานมากถึง 150,000 คน โดยร้อยละ 80 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า และคาดว่าในปีหน้านี้ จะมีหนุ่มสาวที่มีศักยภาพจะมุ่งเข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ มากถึง 200,000 ่คน ซึ่งเมื่อเฉลี่ยแล้ว มีอายุเพียง 28 ปี นับว่าเป็นพลังขับเคลื่อนอย่างมีนัยยะสำคัญของภาคเศรษฐกิจนี้

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

การบริหารของที่นี่เป็นอย่างไรบ้างครับ เพราะมีรูปแบบที่น่าจะไม่เหมือนระบบธุรกิจรัฐ

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

คือจีนนั้นใช้โอกาสในช่วงเศรษฐกิจ 30 ปีแรก จากการขุดทรัพยากรธรรมชาติ และการจ้างแรงงานราคาถูก ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทำมากเท่านั้น จึงจะได้ผลฯ แต่วันนี้ เมื่อกำลังจะเล่นเกมส์ใหม่ เมื่อพอที่จะยืนตรง ก็เร่งวางรากฐานให้ลูกหลานมังกรของตน ก้าวไปสู่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นอุตสาหกรรมที่ทำน้อยได้มาก "เขตไอทีในเฉิงตูนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการบริหารเศรษฐกิจในจีนได้เหมือนกัน คือเป็นความร่วมมือของรัฐกับเอกชน ในการใช้นโยบายพิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเชื่อแน่ว่า บรรยากาศอย่างนี้ คือก้าวกระโดดไกลไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และอนาคตของคนจีนรุ่นใหม่ และอีกหน่อยคนหน่มสาวจีนที่มีศักยภาพก็ไม่ต้องออกไปทำงานที่ต่างประเทศ"

และที่ในตอนต้นผมบอก เป็นทริปความทันสมัยสองกาลเวลาที่เฉิงตู เพราะ วันนั้นเสร็จจาก ซอฟต์แวร์ปาร์ก ซึ่งเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เรานักข่าว ก็พากันไป "แหล่งวัฒนธรรมโบราณสถาน จินซา"

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

เป็นอย่างไรบ้างครับ พอได้เห็นอีกโลกหนึ่งซึ่งอยู่ห่างกันกว่าสองพันปี

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

ใช่เลยครับ "แหล่งวัฒนธรรมโบราณสถาน จินซา" ซึ่งเคยตั้งรกรากในเขตเฉิงตูนี้เมื่อ สองพันกว่าปีก่อน เป็นความเจริญที่อยู่ตรงนี้ ในเฉิงตูนี้ แต่ห่างจากเวลานี้ไปนานสองพันปี

คนที่สนใจ คงทราบกันก่อนแล้วว่า "แหล่งวัฒนธรรมโบราณสถาน จินซา" ซึ่งเคยตั้งรกรากในเขตเฉิงตูเมื่อสองพันกว่าปีก่อนนี้ คือหมู่บ้านจินซา ถูกค้นพบครั้งแรกโดยบังเอิญ ระหว่างที่คนงานกำลังก่อสร้างตึกอาคาร โดยนักโบราณคดีได้พบสิ่งของตกทอดจากยุคโบราณที่ไม่ค่อยได้พบเห็นมาก่อน ชิ้นสำคัญๆ คือ หน้ากากทองคำและทองแดง หยก และโบราณวัตถุอื่นๆที่สำคัญอีกรวม 342 ชิ้น ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 3,000 ปี นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของเฉิงตูและเสฉวน ซึ่งความเชื่อโดยทั่วไปว่ามีประวัติศาสตร์ย้อนไปที่ราว 2,300 ปี

โดยการค้นพบยืนยันว่า ตั้งแต่กว่า 3,000 ปีที่แล้ว อาณาจักรสู่ในยุคโบราณน่าจะมีศูนย์กลางการเมืองและวัฒนธรรมเมืองในเฉิงตู และจินซาก็คือศูนย์กลางการเมืองและวัฒนธรรมของอาณาจักรสู่ ในเวลานั้น

ก็น่าภูมิใจที่ชาวเฉิงตูได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์ อารยธรรมสูงยิ่งทั้งในอดีต และกำลังจะก้าวสู่อนาคตที่รุ่งเรืองด้วย

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

ฟังดูแล้ว ผมรู้สึกว่าเฉิงตูมีเสน่ห์ทีเดียวนะครับ คุณเกรียงไกร

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

"ครับ การได้มาพบเห็นสถานที่ต่างๆ ของคนทำข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าจะชาติไหน ก็คงทำให้เขาสามารถเข้าใจความเป็นท้องถิ่นซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำข่าว เขียนข่าว และรายงานข่าวมากทีเดียว"

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

ถ้าอย่างนั้น ความรู้สึกของการไปชมเมืองหนานจิง เป็นอย่างไรบ้าง มีความรู้สึกเหมือนหรือต่างจาก ปักกิ่ง กับเฉิงตูมั๊ยครับ

นายเกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

ถ้าพูดถึงความเหมือนกัน นั้น ผมก็คิดว่าเหมือนกันในเรื่องสำคัญๆ ซึ่งก็เป็นเหตุผลของการที่ทั้งสามเมืองนี้ ได้เป็นหนึ่งในบรรดาเมืองวัฒนธรรมของจีนปีนี้ ไม่ว่าจะเรื่องของการรักษาวัฒนธรรมโบราณได้อย่างดี และมีความต่อเนื่อง มีกิจกรรมสนุกสนานหลากหลาย ผู้คนก็มีส่วนร่วม สามารถปรับเข้ากับความทันสมัยเปิดกว้าง

เหล่านี้ ผมว่าก็ได้เห็นที่เมืองหนานจิงเหมือนกัน และที่ผมคิดว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมที่ร่วมกันอย่างน่าสนใจของจีน อันนี้ ผมคิดไปเองคนเดียว คือการมี "น้ำ" อยู่ในชีวิต คือ "น้ำ" ในความหมายของปรัชญาเต๋า ก็ยังมี "น้ำชา" กับพิธีชงชาที่สงบ มี "น้ำหมึก" ที่ตวัดออกมาจากปลายพู่กันจีน ที่ได้พบเห็นตามข้อความต่างๆ ตลอดเวลา

และก็มี "แม่น้ำ" ซึ่งดูเหมือนว่าจะอยู่ในวงจรวัฒนธรรมจีน

ทริปฯ นักข่าวในเมืองหนานจิงซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ติดอันดับโหวต เมืองวัฒนธรรมของจีนปีนี้ มีคำอยู่สองคำซึ่งสนใจในการเดินทางนี้ คือคำว่า "ช้า" และ "สีเขียว" เพราะจากข่าวคราวที่ว่า หนานจิง ได้เสนอเข้าเป็นเมืองที่มีความ "ช้า"Slowliest กับ ความเขียว

เรื่องนี้ เราพวกนักข่าว ก็ได้ฟังจากการเข้าพบสัมภาษณ์ คุณเฉิน กัง รองนายกเทศมนตรี หนานจิง ในวันแรกของการเดินทางเลย คุณเฉินบอกว่า "วิสัยทัศน์ของทางการท้องถิ่น ต้องการพัฒนาหนานจิงอย่างมีดุลยภาพต่อชีวิตผู้คน และเน้นคำว่า "Fast Transportation, Slow Living"

จุดเด่นๆ ของหนานจิง คงอยู่ที่ ภูเขาจงซาน แม่น้ำฉินหวย และกำแพงเมืองหมิง (กำแพงเมืองหนานจิง) มีคำพูดหนึ่งที่รองนายกเทศมนตรีพูดแล้วน่าสนใจคือคำว่า "นักท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่นักท่องเที่ยว ก็สามารถเข้ามาสัมผัสถึงไม่ใช่เพียงมาเป็นผู้ชม"

อย่างวันแรกของการมาหนานจิง เราได้เข้าชมพิธีชงชาตอนสองทุ่ม หลายคนคงคิดว่าไม่ได้ดูก็ไม่เป็นไร เพราะรู้สึกว่าใจวุ่นวาย ก็คิดว่านอนพักชมทีวีตามวิถีฯ ที่คุ้นเคยดีกว่า

แต่การเข้ามีส่วนร่วมในการเรียนรู้วิธีชงชาที่หนานจิง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวฯ ได้ร่วมอยู่กับวัฒนธรรมนี้ ได้อยู่กับความเนิบช้า ของวิธีชงชาสักพัก จนกระทั่งได้น้ำชารินถ้วยดื่ม หลายคนคงรู้สึกว่าความวุ่นวายก่อนหน้าได้หายไปโดยไม่รู้ตัว

จริงอยู่ว่า การชงชาแบบนี้คงไม่ใช่การชงชาในชีวิตประจำวัน แต่การได้รู้วิธีที่จะเนิบช้าเป็นหนึ่งเดียวกับการชงชานี้ อาจจะเป็นอีกด้านซึ่งช่วยปลดปล่อยความวุ่นวายออกจากความคิดได้แม้เพียงชั่วประเดี๋ยวก็ยังดี เข้าทำนองว่า เร็วไม่ว่า แต่ช้าให้เป็น

สถานที่สำคัญของหนานจิงที่คงไม่พลาดคือ "กำแพงเมืองหนานจิง ความที่หนานจิงเป็น หนึ่งในสี่เมืองโบราณของจีน เป็นเมืองหลวงสมัยราชวงศ์หมิงตอนต้น ซึ่งสามารถรวบรวมสร้างความเป็นปึกแผ่นบนแผ่นดินจีน จึงมีมรดกทางวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก

ขงเบ้ง กุนซืออัจฉริยะในสมัยสามก๊ก เคยกล่าวเอาไว้ว่า "หนานจิง มีภูมิศาสตร์หรือฮวงจุ้ยที่เป็นเมืองในอุดมคติของกษัตริย์จริงๆ ด้วยเขาจงซานนั้นเป็นทิวคล้ายกับมังกร รับกับตัวเมืองหนานจิง ที่คล้ายพยัคฆ์นอนหมอบอยู่ด้านล่าง" และมีชัยภูมิที่เหมาะในการป้องกันประเทศ

กำแพงเมืองหนานจิง คือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่มาแต่โบราณ ของหนานจิง ที่ยังคงหลงเหลือให้ได้เห็นอยู่ ผิดกับเมืองปักกิ่ง ที่แนวกำแพงส่วนใหญ่ถูกทุบทิ้งไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

ปัจจุบันกำแพงนี้ ถือเป็นมรดกไม่เพียงของชาวจีน แต่ของโลกด้วย เป็นสิ่งก่อสร้างที่ผ่านศึกสงคราม ผ่านการเผาทำลาย ยืนยงมานานกว่า 600 ปีโดยอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ในวันนี้คือ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งการสร้างความเป็นปึกแผ่นและรักษาความเจริญของชาติให้ดำรงสืบไป

พูดถึงสิ่งที่สวยงามในหนานจิงนั้นมีหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือถนนบนทางไปสู่สุสาน ดร.ซุนยัดเซ็น ที่ตลอดสองข้างทาง ความยาวกว่า 3 กม. เรียงรายด้วยต้นอู๋ถง อายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งยังคงแข็งแรงสูงใหญ่แผ่ร่มเงาครึ้ม โดยต้นอู๋ถงนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไปในเมืองหนานจิงด้วย นับว่าเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองหนานจิง และก็รู้สึกว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยหนานจิง ซึ่งตั้งอยู่บนเขานี้ ช่างโชคดี ที่ได้อยู่ในพื้นที่ที่สวยงามและมีประวัติศาสตร์มากมายบนเขาลูกนี้

ตามที่คุยว่า น้ำ นั้น มีบทบาทสำคัญกับชีวิตวัฒนธรรม ที่หนานจิงก็เช่นกัน หนานจิง มีแม่น้ำฉินหวย ซึ่งยังคงใสสะอาด และการแสดงแสงสีเสียง ริมสายน้ำ" ก็น่าจะเป็นไฮไลต์ในการมาเที่ยวชมวัฒนธรรมของเมืองหนานจิง เพราะได้นั่งล่องเรือโบราณ ชมทิวทัศน์และสถาปัตยกรรมยุคหมิง ที่เรียงรายอยู่ตามสองฝั่ง "ฉินหวย" ที่ประดับโคม

นอกจากนี้ ความเพลิดเพลินในการรับรู้ เรื่องราวความเป็นมาผ่านการแสดงทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยดนตรีและนาฏศิลป์ ฟ้อนรำโบราณต่างๆ ซึ่งมีการบริหารจัดการแสดงทางวัฒนธรรมที่เป็นมืออาชีะ จนรู้สึกร่วมกับชีวิตริมแม่น้ำฉินหวยนี้ว่า แม้เวลาจะผ่านชาวเมืองหนานจิงผลัดไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่วัฒนธรรมริมแม่น้ำฉินหวย ยังคงไม่ขาดสาย

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ

ครับ ขอบคุณคุณเกรียงไกรมาพูดคุยถึงเรื่องกิจกรรมการนำผู้สื่อข่าวต่างประเทศเยี่ยมชมเมืองวัฒนธรรมของจีน และขอบคุณท่านผู้ฟังที่ติดตามกิจกรรมที่ซี่อาร์ไอจัดขึ้น และรับรายการของเรา สวัสดีครับ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040