ณ สิ้นปี 2011 จีนมีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีประมาณ 123 ล้านคน เท่ากับยอดจำนวนประชากรของยุโรป กลุ่มผู้สูงอายุนับวันขยายตัว และต้องได้รับการดูแลมากขึ้น เราสามารถทำอะไรให้กับผู้สูงอายุได้บ้าง อีกทั้งควรเคารพและรักผู้สูงอายุอย่างไร ตลอดจนควรดูแลผู้สูงอายุด้วยตนเอง หรือว่า ควรส่งผู้สูงอายุไปยังบ้านสงเคราะห์คนชรา ทั้งนี้ล้วนเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันร้อนแรงในสังคมจีน
สำหรับกรุงปักกิ่งนั้น สถิติระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2009 ผู้สูงอายุในกรุงปักกิ่งมีกว่า 2.3 ล้านคน และในปี 2011 กรุงปักกิ่งมีสถานสงเคราะห์คนชรา 401 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นของรัฐ 215 แห่ง และเอกชน 186 แห่ง คนชราทุกๆ 100 คนจะมีเตียงในบ้านคนชราเพียง 2.9 เตียงเท่านั้น ซึ่งไม่สอบรับกับกับความต้องการของผู้สูงอายุอย่างมาก
บริการดูแลคนชราของเขตชุมชนที่พึ่งพาไม่ได้
"ลูกๆ ก็แก่แล้วเช่นกัน ไม่ควรทำให้ลูกๆ เดือดร้อนอีก" นายจัง เอี่ยนเซิง ผู้เฒ่าอายุ 90 ปีกับนางหลี่ อวี้เจิน ภริยา บ้านอยู่เขตเฟิงไถ กรุงปักกิ่งคิดเช่นนี้ จึงตัดสินใจว่า จะไปอยู่ "ห้องดูแลยามกลางวัน" ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลคนชราของเขตชุมชนในยามกลางวัน และจะกลับมาอยู่ที่บ้านในยามกลางคืน เช่นนี้แล้ว ช่วงกลางวันจะมีผู้เฒ่าคนอื่นๆ เป็นเพื่อนกัน หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะสามารถหามส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันกาล และช่วงกลางคืนก็จะได้อยู่กับลูกหลาน เท่ากับเป็นทั้งการช่วยภาระของลูกหลาน และสามารถเฝ้าอยู่กับบ้านได้
ทว่าเมื่อไป "ห้องดูแลยามกลางวัน" มาแล้ว นายจัง เอี่ยนเซิงผิดหวังมาก เพราะไม่มีใครไปใช้บริการ "ผมไปดูมาแล้ว มีเพียงเตียง 2 เตียงพร้อมผ้าปูเตียงและผ้าห่ม 2 ชุดเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีแพทย์ดูแลอีกด้วย เราเกิดความรู้สึกกลัวหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับเรา"
เจ้าหน้าที่เขตชุมชนระบุว่า "ทางชุมชนไม่มีกำลังคนมาดูแล ไม่มีกำลังทรัพย์จ้างคนมาดูแล ฉะนั้น คนชรามาอยู่ที่นี่จึงมีความเสี่ยง หากเกิดโรคฉุกเฉินขึ้นมา และเสียชีวิตที่นี่ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ"
บ้านสงเคราะห์คนชราที่ต้องรอคิวเป็นเวลาถึง 10 ปี
เมื่อบริการดูแลคนชราของเขตชุมชนพึ่งพาไม่ได้ นายจัง เอี่ยนเซิง กับนางหลี่ อวี้เจิน ภริยา จึงหันไปหาบ้านสงเคราะห์คนชราแทน
ขณะที่นางเจ้าเฟิน (นามแฝง) อายุ 80 ปี บ้านอยู่เขตจิ้งซง กรุงปักกิ่ง ก็มีความประสงค์จะไปอยู่บ้านสงเคราะห์คนชราเช่นกัน เนื่องด้วยนับวันมีอาการไม่สบายต่างๆ นานา ในยามปกติ มีเพียงแมว 2 ตัวอยู่เป็นเพื่อนเธอ เธอมีบัตรคิวบ้านสงเคราะห์คนชราภาครัฐ แต่รอมาเป็นเวลานานถึง 4 ปีแล้ว
ส่วนนางหลู เยว่อ้าย วัย 90 ปี ในกลางดึกร้องตะโกนว่า "จะลงบันไดไปทำงาน" เมื่อเห็นลูกสาววัย 58 ปีมาฉุดตัวเอง ก็ส่งเสียงดังว่า "ช่วยด้วยๆ" ซึ่งรบกวนเพื่อนบ้าน และพวกเขาต่างเปิดประตูบ้านมาด่ากันว่า "พวกเธอทำอะไรกับคนแก่ล่ะ จะให้ผู้อื่นเข้านอนกันหรือไม่" ทั้งนี้ลูกๆ ของนางหลู เยว่อ้ายเปิดใจว่า "ถูกมารดาที่ไม่ค่อยจะมีสติทรมานจนแทบจะเป็นบ้าเสียแล้ว" กล่าวได้ว่า การดูแลคนชราได้กลายเป็นเรื่องที่ทางครอบครัวไม่มีปัญญาจะดูแลได้ดี
"บ้านสงเคราะห์คนชราของรัฐนั้น ไว้ใจได้" ลูกๆ ของนายจัง เอี่ยนเซิงกับภริยา นางเจ้าเฟิน และนางหลู เยว่อ้าย ล้วนนึกถึงบ้านสงเคราะห์คนชราภาครัฐด้วยกัน สาเหตุก็คือ บ้านสงเคราะห์คนชราของรัฐมีอุปกรณ์ครบถ้วน บริการครบวงจร เก็บค่าใช้จายอย่างมีเหตุผล การคมนาคมก็สะดวก "หากเกิดโรคกำเริบขึ้นมา สามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว"
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าบ้านสงเคราะห์คนชราของรัฐนั้นยากมาก นายจัง เอี่ยนเซิงกับภริยาไปดูมาแล้วหลายแห่ง ได้คำตอบว่า "เต็มแล้ว" ส่วนนางเจ้าเฟินไปลงทะเบียนและได้บัตรคิวบ้านสงเคราะห์คนชราของรัฐมาเมื่อ 4 ปีก่อน แม้ว่าเธอเคยสอบถามทางโทรศัพท์มาหลายครั้ง แต่คำตอบกระทั่งถึงเวลานี้ก็คือ "ไม่มีเตียงว่าง ยังต้องรอคิวต่อไป" และสำหรับนางหลู เยว่อ้ายนั้น ก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน สาเหตุเดียวกันคือ "ไม่มีเตียงว่าง" อีกทั้ง "ไม่รับคนชราที่ดูแลตัวเองไม่ได้"
บ้านสงเคราะห์คนชราของเอกชนราคาแพงลิบลิ่ว
เมื่อเข้าบ้านสงเคราะห์คนชราของรัฐไม่ได้ นางเจ้าเฟินจึงคิดจะไปบ้านสงเคราะห์คนชราของเอกชน เธอเคยไปทดลองอยู่มาแล้วแห่งหนึ่ง
"เหมือนอยู่โรงแรมระดับดาว" นี่คือความรู้สึกอันดับแรก ห้องเดี่ยว ห้องคู่ และห้องชุด ราคาต่างกันตั้งแต่ 8,800-30,000 หยวนต่อเดือน
ในห้องตัวอย่างที่ทดลองพักอาศัยมีราคา 8,800 หยวนต่อเดือน มีโทรทัศน์คริสตัลเหลว (แอวซีดี) เครื่องหุงต้มคุณภาพดี และอุปกรณ์อื่นๆ ครบทุกอย่าง ซึ่งราคา "8,800 หยวนรวมถึงค่าอาหาร วันละ 3 มื้อเมนูไม่ซ้ำกันอีกด้วย" แต่นางเจ้าเฟินทดลองอยู่ได้แค่ 1 สัปดาห์ ก็เลือกที่จะถอนตัว เพราะ "เงินบำนาญหนึ่งเดือนมีเพียง 3,000 หยวนเศษๆ เท่านั้น ไม่พอจ่ายค่าที่พักของที่นี่" ฉะนั้น เธอจึงยังคงจะรอคิวเข้าบ้านสงเคราะห์คนชราของรัฐต่อไป
ธุรกิจการดูแลคนชรามีมูลค่ากว่า 450,000 ล้านหยวน
กลุ่มคนชรา ซึ่งมีจำนวนมากและมีความต้องการที่จะเข้ารับการดูแลและรักษาสุขภาพ จะเป็นผลดีต่อธุรกิจการดูแลคนชรา ตามการคาดการณ์ ตลาดกิจการดูแลคนชราของจีนในปี 2015 จะมีมูลค่ากว่า 450,000 ล้านหยวน และจะสร้างตำแหน่งงานกว่า 5,000,000 ตำแหน่ง
(YING/LING)