เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ว่าด้วยปัญหาทะเลจีนใต้ โดยระบุถึงหลักการ 6 ประการ การออกแถลงการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการแก้ไขกรณีที่ไม่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หลักการ 6 ประการนี้สอดคล้องกับหลักการขั้นพื้นฐานของแถลงการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ แนวทางการปฏิบัติหลังออกแถลงการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ และเอกสารการเมืองทวิภาคีที่จีนได้ลงนามกับประเทศอาเซียนหลายประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปี 2011 ด้วย จีนจึงเห็นด้วยกับหลักการ6 ประการนี้
สาระสำคัญของหลักการดังกล่าวเขียนไว้ในร่างแถลงการณ์ร่วมที่ทางกัมพูชายื่นให้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีนี้พิจารณาแล้ว แต่เนื่องจากฟิลิปปินส์ยืนกรานจะนำกรณีพิพาทเกาะหวงเหยียนเข้าไว้ในแถลงการณ์ร่วม เพื่อต้องการให้จุดยืนของตนกลายเป็นจุดยืนของอาเซียน และยัดเยียดให้ประเทศอื่นในอาเซียนยอมรับจุดยืนของตน จึงถูกประเทศอื่นๆ ในอาเซียนปฏิเสธ หลักการ 6 ประการว่าด้วยปัญหาทะเลจีนใต้ที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้นั้นไม่มีการระบุถึงข้อเรียกร้องของฟิลิปปินส์แต่ประการใด
กรณีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ได้นั้นไม่เป็นที่ปรารถนาของประเทศอาเซียน และจีน สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดกรณีเช่นนี้คือ ประเทศอาเซียนบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์สนใจแต่ผลประโยชน์ของตน ยืนกรานยัดเยียดจุดยืนของตนให้แก่ประเทศอื่น แม้รู้ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ แต่ก็ยังดำเนินการ ทั้งนี้เป็นการละเมิดหลักในการปรึกษาหารือกัน เพื่อบรรลุความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ และเป็นการจงใจสร้างปัญหาให้แก่ประเทศเจ้าภาพ จึงเป็นอุปสรรค์ต่อการหารือในอาเซียน
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปีนี้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้นั้นไม่ได้เป็นความผิดของจีน ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับบางประเทศในอาเซียนเท่านั้น เช่น ฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอาเซียน การที่จีนเสนอให้แก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ด้วยวิถีการเจรจาระหว่างจีนกับประเทศที่เรียกร้องอธิปไตย และไม่เห็นด้วยที่จะนำปัญหาทะเลจีนใต้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศนั้น ไม่ได้หมายความว่าจีนกังวลในการให้ข้อขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ แท้จริงแล้ว จีนเตือนฝ่ายที่เกี่ยวข้องครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การนำข้อขัดแย้งทะเลจีนใต้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศนั้นมีแต่จะทำให้ปัญหานี้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขข้อขัดแย้ง หากยังจะสร้างปัญหาให้กับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายในอาเซียนด้วย
จีนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนมาโดยตลอด พยายามขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนในลักษณะอำนวยประโยชน์แก่กัน และประสบความสำเร็จร่วมกัน จึงขอเตือนบางประเทศในอาเซียนอีกครั้งว่า เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินความร่วมมือในภูมิภาคนี้ บางประเทศในอาเซียนไม่ควรสร้างปัญหาทะเลจีนใต้อีก
(YING/cai)