ผู้เป็นพ่อแม่มีความเห็นอะไรต่อมาตรฐานความกตัญญูฉบับใหม่
เมื่อเห็นมาตรฐานการปฏิบัติความกตัญญูต่อพ่อแม่ 24 ประการฉบับใหม่กำหนดขึ้นมา จง ชุ่ยอิง อาม่าวัย 73 ปีรู้สึกดีใจอย่างยิ่ง เธอบอกว่า "เนื้อหาในมาตรฐานความกตัญญูฉบับใหม่นี้ดีมากๆ คนแก่ต้องการความดูแลเอาใจใส่ที่จำเป็น แต่ลูกหลานอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ หวังว่า ผู้เป็นลูกทุกคนตั้งใจปฏิบัติตาม" อาม่าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ลูกจะพาเธอออกไปท่องเที่ยวด้วยกัน ไม่ใช่พาลูกพาเมียไปแต่ทิ้งอาม่าไว้คนเดียวในบ้าน
ชาวเน็ตผู้สูงอายุของจีนส่วนใหญ่ต้อนรับและชื่นชมมาตรฐานความกตัญญูฉบับใหม่ โดย ชาวเน็ต "เพี่ยวเลี่ยงไม่จือ" แสดงความเห็นว่า "ลูกของฉันคือ 80 โห่ว (คนที่เกิดระหว่างทศวรรษ 1980 – 1990) ถึงเวลาแล้วที่จะให้คนรุ่นนี้เข้าใจความหมายของความกตัญญูกตเวทีแล้ว สำหรับลูกหลาน พ่อแม่ทุ่มเทอย่างเดียว ไม่เคยขออะไรสักอย่าง จนทำให้ลูกหลานเคยชินกับการได้รับแต่ไม่รู้จักตอบแทน"
เฉิน กาง วัย 53 ปีได้รับการยอมรับเป็นเสียงเดียวกันจากเพื่อนบ้านว่าเป็น "ลูกกตัญญูที่แท้จริง" เมื่อเขาอ่านมาตรฐานความกตัญญูฉบับใหม่แล้ว เขามั่นใจว่า เนื้อหาในนี้เขาปฏิบัติได้ไม่น้อยกว่า 90% เพราะปกติไม่ว่างานยุ่งขนาดไหน เขาก็จะจัดเวลาไปเยี่ยมพ่อแม่ ทำอาหารอร่อยและพูดคุยกันกับพ่อแม่ แต่ในฐานะที่เป็นคุณพ่อ เขารู้สึกว้าเหว่เสมอ และหวังว่า ลูกหลานกลับบ้านมาเยี่ยมเขากับภรรยาบ่อยๆ
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นองค์กรอำนาจสูงสุดของประเทศได้พิจารณาร่าง "กฎหมายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ" ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตราใหม่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า "ให้ลูกกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่บ่อยๆ" เป็นที่จับตามองของทั่วทั้งสังคม และเมื่อมาตรฐานความกตัญญูฉบับใหม่นี้กำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นข้อแรก สะท้อนให้เห็นว่า ลูกหลานกลับบ้านมาเยี่ยมพ่อแม่บ่อยๆ เป็นความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่
ความหมายสำคัญของมาตรฐานความกตัญญูฉบับใหม่ในสังคมปัจจุบัน
ลักษณะเด่นของมาตรฐานการปฏิบัติ "ความกตัญญูต่อพ่อแม่ 24 ประการ" ฉบับใหม่คือ มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนปัจจุบัน และมีความเจาะจงโดยตรงต่อความต้องการที่เป็นรูปธรรมของคนชรา เช่น เนื้อหาสอนพ่อแม่ให้ท่องอินเตอร์เน็ต ซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมให้พ่อแม่ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคม ขณะที่เนื้อหาสนับสนุนพ่อแม่ที่เป็นโสดให้หาคู่ชีวิตแต่งงานใหม่ ตั้งใจฟังพ่อแม่เล่าเรื่องเก่า เป็นการแนะนำผู้เป็นลูกให้ใส่ใจในความต้องการทางจิตใจของพ่อแม่ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
มาตรฐานความกตัญญูใหม่ทำให้กรอบแนวคิดที่มีต่อความกตัญญูกตเวทีของคนจีนขยายกว้างขึ้น สะท้อนได้จากการพาพ่อแม่ไปร่วมกิจกรรมที่สำคัญของตนเอง ไปเยี่ยมชมสถานที่ทำงานของตนเอง และไปชมภาพยนตร์ที่พ่อแม่ชอบ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีแสดงความกตัญญูที่มีลักษณะทันสมัยและเป็นแฟชั่น ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อแม่เพิ่มสีสัน หากยังเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้าใจและเข้าถึงชีวิตลูกหลานได้มากขึ้นด้วย เมื่อได้แบ่งปันความสุขและความสนุกสนานของลูกหลานอย่างแท้จริง ความรู้สึกเหงาและขาดความเอาใจใส่ของพ่อแม่ก็จะลดน้อยลง
มีชาวเน็ตกลุ่มหนึ่งแสดงความเห็นว่า การแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นเรื่องส่วนตัว สภาพความเป็นจริงและความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกในแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ลูกกตัญญูพ่อแม่หรือเปล่านั้น ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของพ่อแม่เอง ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานความกตัญญูที่เป็นแบบแผนเดียวขึ้นมาให้ทุกคนทำตามจึงไม่เหมาะสม และอาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า วัยรุ่นไม่สนใจตอบแทนพ่อแม่
นักวิเคราะห์ชี้แจงว่า มาตรการความกตัญญูไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม และไม่มีใครอ้างมาตรฐานความกตัญญูมากล่าวโทษลูกกตัญญูที่ไม่สามารถทำครบทุกเนื้อหาในมาตรฐานนี้เพราะเงื่อนไขจำกัด วัตถุประสงค์ที่กำหนดมาตรฐานนี้คือแสดงบทบาทเสนอแนะให้คนปัจจุบันเชิดชูคุณธรรมกตัญญูกตเวทีที่สืบทอดจากสมัยโบราณ อย่าลืมว่าน้ำใจเล็กๆ ของลูกก็จะทำให้พ่อแม่มีความสุข และเตือนให้ผู้เป็นลูกพูดคุยแลกเปลี่ยน ดูแลเอาใจใส่ เลี้ยงดูและประคับประคองพ่อแม่เท่าที่จะทำได้ ทำให้กลุ่มผู้เป็นพ่อแม่ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางกระแสสังคมแห่งความกตัญญูกตเวที