อักษรศิลป์เป็นที่นิยมชมชอบในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศเพื่อนบ้านของจีนที่ใช้ตัวอักษรมีรูปร่างพัฒนามาจากอักษรจีน ตั้งแต่อักษรศิลป์เผยแพร่เข้าสู่ประเทศ ชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างมองเห็นถึงบทบาทสร้างสรรค์ที่อักษรศิลป์มีต่อวัฒนธรรม จึงส่งเสริมให้ประชาชนฝึกเขียนอักษรศิลป์อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้ ที่ญี่ปุ่นมีประชาชนเกือบ 30 ล้านคนฝึกเขียนเป็นประจำ หมายความว่า ชาวญี่ปุ่นทุก 5 คนก็มีหนึ่งคนชื่นชอบในอักษรศิล โรงเรียนประถมและมัธยมทั่วไปเปิดห้องเรียนเขียนพู่กันจีนโดยเฉพาะ บรรดาสำนักพิมพ์มี 1 ใน 3 พิมพ์จำหน่ายหนังสือด้านศิลปะการเขียนตัวอักษร และทั่วประเทศยังมีหอแสดงอักษรศิลป์จำนวนนับไม่ถ้วน ท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นหอมแห่งน้ำหมึก ผู้รักอักษรศิลป์กว่าล้านคนเคยจัดนิทรรศการอักษรศิลป์ส่วนตัว
ชาวเกาหลีใต้มีความกระตือรือร้นสูงต่อการฝึกเขียนอักษรศิลป์เช่นกัน คนที่ถือการเขียนพู่กันเป็นงานอดิเรกมีกว่าหลายแสนคน ประธานาธิบดีหลายคนชอบเขียนและเก็บสะสมงานอักษรศิลป์ นับเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมอักษรศิลป์ นอกจากนี้ทางสมาคมนักเขียนอักษรศิลป์ซึ่งมีอิทธิพลสูงในแวดวงวัฒนธรรม รับหน้าที่รณรงค์และเผยแพร่อักษรศิลป์ในหมู่เยาวชน มีเปิดคอร์สอบรมด้านอักษรศิลป์ที่ให้ความสำคัญกับทั้งทฤษฎีการวิจัยและทักษะการเขียน เป็นที่นิยมของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก สิ่งที่น่าสนใจคือ เกาหลีใต้ได้อนุรักษ์กรรมวิธีผลิตกระดาษโบราณที่สืบทอดจากราชวงศ์หยวนของจีน โดยใช้เปลือกต้นไม้ ใบไม้และใบหญ้าผลิตกระดาษที่เหมาะสมกับการเขียนหนังสือด้วยพู่กัน ซึ่งสมาคมนักเขียนอักษรศิลป์และหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องยังจัดนิทรรศการและการแข่งขันผลงานอักษรศิลป์เป็นประจำ
สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อักษรศิลป์เป็นวัฒนธรรมที่นำเข้าจากต่างชาติ แต่กลับเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมตนเอง สภาพการอนุรักษ์และส่งเสริมอักษรศิลป์ในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ดีกว่าจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดอย่างเห็นได้ชัด นี่เป็นสัญญาณเตือนใจชาวจีนว่า ถ้าชนชาติหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงพอกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเป็นเวลานาน อักษรศิลป์และวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีนอีกหลายแขนงอาจจะสูญหายไปจากแผ่นดินจีน คนจีนควรรีบใช้สติปัญญาและมาตรการที่ได้ผลเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมทุกแขนงอันทรงคุณค่าของตนให้คงไว้
การเผยแพร่การศึกษาด้านอักษรศิลป์เป็นภารกิจด่วนของสังคม
ศิลปะการเขียนอักษรจีนกำเนิดขึ้นในจีนนับแต่สมัยโบราณ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และได้สร้างคุณูปการใหญ่หลวงต่อการสืบทอดอารยธรรมจีน บุคคลยิ่งใหญ่ของจีนที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย เช่นประธานเหมา เจ๋อตง จักรพรรดิเฉียงหลง เป็นต้น ต่างชื่นชอบอักษรศิลป์และเป็นนักเขียนอักษรศิลป์ชื่อดังด้วย เมื่อวันที่ 30 กันยายนปี 2009 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ยกย่องอักษรศิลป์ของจีนเป็น "มรดกทางวัฒนธรรมทางนามธรรมของมนุษยชาติ" นี่เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า คุณค่าทางศิลปะวัฒนธรรมอันสูงส่งของอักษรศิลป์เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก
แต่ปัจจุบัน ในประเทศจีนมีเพียงนักวิชาการและนักเขียนอักษรศิลป์เท่านั้นที่มุ่งใช้ความพยายามอนุรักษ์และส่งเสริมอักษรศิลป์ ผลสำรวจเรื่อง "คุณมีความเห็นอย่างไรต่อการใช้มือเขียนหนังสือในยุคสมัยอินเตอร์เน็ต" จากเว็บไซต์ข่าวสารสำคัญของจีนแสดงว่า ผู้คน 44.25% รู้สึกว่า ตัวหนังสือที่ตนเองใช้มือเขียนออกมาไม่สวย 14.23% ยอมรับว่ามักจะเขียนตัวอักษรผิด และ 85.29% เห็นว่า ความสามารถการใช้มือเขียนหนังสือของชาวจีนลดต่ำลง สรุปได้ว่า การเขียนหนังสือด้วยมือซึ่งเป็นทักษะจำเป็นขั้นพื้นฐานกำลังสูญเสียความนิยมจากมวลชนในยุคสมัยอินเตอร์เน็ต อักษรศิลป์กลายเป็นศิลปะวัฒนธรรมของ "กลุ่มคนจำนวนน้อย" เท่านั้น
สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือ พ่อแม่ผู้ปกครองชาวจีนไม่น้อยเห็นว่า ลูกเขียนหนังสือสวยหรือเปล่า ไม่สำคัญเท่าไรนัก จึงยอมลงทุนให้ลูกเรียนคอร์สคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษและดนตรีที่มีส่วนช่วยต่อการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยชั้นดี แต่ไม่สนใจให้เด็กฝึกอักษรศิลป์เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพและเพิ่มความเข้าใจต่อวัฒนธรรมจีน จีนเป็นต้นกำเนิดของอักษรศิลป์ อักษรที่เขียนด้วยมือสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน สื่อความหมายลึกซึ้งกว่าตัวหนังสือที่พิมพ์ผ่านคอมพิวเตอร์ ทำให้อักษรมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วย งานเขียนอักษรศิลป์เกิดจากความกระตือรือร้นและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียน เป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสูง การมองข้ามความสำคัญของอักษรศิลป์เท่ากับไม่เคารพรากฐานของวัฒนธรรมจีน ความเป็นตัวของตัวเองของประชาชาติจีน และประวัติศาสตร์จีน
ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชี้ว่า การเปิดสอนวิชาศิลปะการเขียนอักษรจีนในโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วงประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นช่วงที่ร่างกายเติบโตและสร้างระบบการเรียนรู้ที่สำคัญ อักษรศิลป์มีส่วนช่วยให้เด็กนักเรียนพัฒนาการคิดเชิงจินตนาการและการคิดเชิงตรรกะเพราะเน้นวิธีเขียนตัวอักษรที่ถูกต้องและเขียนลายมือให้สวยงาม คนฝึกเขียนอักษรศิลป์ต้องเขียนช้าๆ พร้อมจดจำทั้งรูปร่างและความหมายของตัวอักษร ส่วนประกอบของตัวอักษรจีนตรงไหนบอกความหมาย ตรงไหนบอกการออกเสียง โครงสร้างตัวอักษรประกอบด้วยการลากเส้น 8 อย่างว่าต้องทำอย่างไรถึงจะดูสวยดูดี ล้วนต้องการให้นักเรียนใช้ตรรกะและจินตนาการแสดงออกมาผ่านพู่กัน การเขียนอักษรศิลป์จึงเป็นกระบวนการพัฒนามันสมองที่ได้ผล
สถาบันอุดมศึกษาของจีนก็ควรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอักษรศิลป์ โดยเปิดสอนเป็นวิชาเลือกให้คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันและชื่นชอบในศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน ได้เรียนรู้วิวัฒนาการของอักษรศิลป์ในยุคสมัยต่างๆ ชื่นชมผลงานของนักเขียนยอดเยี่ยม และใช้เวลาเพียงพอฝึกทักษะการใช้พู่กันเขียนหนังสือ ผู้สอนควรสาธิตความงามและคุณค่าทางศิลปะของอักษรที่เขียนด้วยพู่กันอย่างเต็มที่ ให้นักเรียนเพิ่มความสามารถในการพิจารณาความสวยงามและเพิ่มความเข้าใจต่อวัฒนธรรมจีนในกระบวนการฝึกเขียนอักษรศิลป์ พร้อมพัฒนาบุคลิกภาพให้สมบูรณ์และดียิ่งขึ้น