เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:เทศกาล "ฉงหยางเจี๋ย" วันผู้สูงอายุจีน
  2012-10-23 16:51:23  cri

เว็บไซต์ "ไป่ตู้" เสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของประเทศจีน

กับภาพน่ารักๆ บนหน้าเว็บต้อนรับเทศกาลฉงหยางเจี๋ย - วันผู้สูงอายุของจีน

ฉงหยางเจี๋ย 重阳节 เทศกาลวันที่ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติจีนเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม เป็นอีกหนึ่งวันเทศกาลที่มีความเป็นมาเก่าแก่แต่โบราณ ได้มีบันทึกเอ่ยถึงไว้นับแต่ยุคสามก๊กแล้ว โดยคำว่า "ฉงหยาง" มีความหมายถึง การมาบรรจบทบซ้ำกันของเลขเก้า ซึ่งคนจีนในสมัยโบราณถือเลข "9" ว่าเป็น "หยาง" (เลข 6 เป็น "หยิน" ) จึงเป็นที่มาของชื่อเทศกาล ซึ่งในอดีตได้มีการกราบไหว้บูชา "ดาวผู้เฒ่า" หรือ "ดาวคาโนปุส (Canopus)" เพื่อความศิริมงคลพูนสุข โดยมีตำแหน่งที่ตั้งที่ละติจูด 37 องศาเหนือ ทางซีกฟ้าด้านใต้ ถูกจัดว่าเป็นดาวที่มีความสว่างเป็นอันดับ 2

หากใครต้องการชมก็ให้ขึ้นไปบนที่สูงก่อนตะวันขึ้น แล้วมองไกลออกไปทางฟากฟ้าด้านใต้เยื้องไปทางตะวันออก จะเห็นดาวดวงหนึ่งที่กระพริบแสงสุกสว่าง ดาวดวงนั้นคือ ดาวโจร หรือดาวซีริอุส (Sirius) ที่มีความสว่างที่สุด และจากจุดนี้ให้มองต่ำลงไปห่างออกไปไม่ไกลนักจะเห็นดาวอีกดวงที่มีความสว่างน้อยกว่า แต่กระพริบวิบวับกว่า ซึ่งดาวดวงนั้นก็จะคือ ดาวผู้เฒ่า นั่นเอง

ขนม "ฉงหยางเกา" ประจำเทศกาลฉงหยางเจี๋ย ที่สภาพอากาศช่วงฤดูใบไม้ร่วงฟ้าโปร่ง อากาศยังไม่หนาวจัด เหมาะแก่การปีนเขา "ขึ้นที่สูง" เพื่อความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นเสริมศิริมงคลและความแข็งแรงให้ชีวิต

นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมนิยมที่สืบทอดมาแต่อดีต คือ การปีนเขา "ขึ้นที่สูง" เพราะในอดีตเชื่อว่าจะช่วยให้รอดพ้นจากพิบัติภัย และชมดอกเบญจมาศ ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอายุยืน รวมถึงคำว่า "จิ่ว 九 " ที่แปลว่า "เก้า" ในภาษาจีน ยังพ้องเสียงกับคำว่า "จิ่ว久 " ที่แปลว่า "ยาวนาน เนิ่นนาน" ด้วย ดังนั้น จึงถือเป็นการไหว้ขอพรให้มีอายุยืนยาว และกราบไหว้รำลึกบรรพชน รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งต่อมารัฐบาลจีนก็ได้ประกาศให้เทศกาลฉงหยางเจี๋ยเป็นวันผู้สูงอายุของจีน

และกับคำถามที่นักข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) ช่อง 13 ไปสอบถามความคิดเห็นในเทศกาลฉงหยางเจี๋ยที่จะมาถึงนี้ที่ ผู้สูงอายุทั้งหลายให้ความสำคัญกับสิ่งใดที่สุด? หญิงชราท่านหนึ่งวัย 80 ปี ชาวเมืองเทียนจินที่เดินทางมาเยี่ยมน้องชายวัย 71 ปีที่ปักกิ่งตอบว่า ตนอายุมากแล้ว ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เจ็บใจที่ไม่ตายไปเสียเร็วๆ เพราะทุกวันนี้อยู่ไปก็ไม่รู้จะไปพูดคุยกับใคร มีลูกสาว 3 คน ต่างอยู่ในนครเทียนจินกันทุกคน แต่ก็สัมผัสไม่ได้ถึงความอบอุ่นจากลูกๆ เลย

"ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ไม่รู้สึกถึงความอบอุ่นจากลูกๆ"

คำตอบจากปากหญิงชราวัย 80 ปีที่แสดงออกถึงความปวดร้าวและน้อยใจของผู้ตอบ

เมื่อถามต่อถึงคาดหวังให้ลูกๆ ปฏิบัติตนอย่างไร? เธอว่า ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ให้กลับบ้านมาเยี่ยมบ้าง พูดคุยกันบ้างก็เท่านั้น ส่วนน้องชายวัย 71 ปีที่ยืนข้างๆ เสริมต่อว่า เหมือนกับการปลูกดอกไม้ ปลูกต้นอะไรก็ได้อย่างนั้น จะไปหวังให้เป็นอย่างอื่นอย่างไรได้ เพราะตามใจมาตั้งแต่แรก พอมาถึงรุ่นลูกก็ยิ่งตามใจกันเข้าไปอีก

ฟังดูแล้วความต้องการของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เปรียบดั่งไม้ใกล้ฝั่ง ไม่ว่าจะชนชาติใดภาษาใดดูแล้วไม่แตกต่างกันเลย ซึ่งบรรดาลูกหลานทั้งหลายต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่า สิ่งที่พวกท่านต้องการนั้นไม่ใช่เงินทองที่ต้องขวนขวายกว่าจะหามาได้เลือดตาแทบกระเด็นกัน ต่างขอเพียงให้ลูกหลานมาเยี่ยม มาให้เห็นหน้า มาเป็นเพื่อนคุยให้ได้คลายเหงาบ้างก็เท่านั้น แต่ใครหลายคนก็ยังทำไม่ได้ อาจด้วยเหตุผลที่หญิงชราเองก็เห็นด้วยว่า "พอแต่งงานแล้วก็จะต่างไป" ต่างต้องดูแลครอบครัวของตน หรืออาจด้วยเรื่องนี่..นั่น..โน่น..ที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ทำไม่ได้ หรือเป็นดังคำกล่าวตัดพ้อแกมต่อว่าของผู้เป็นน้องชายของหญิงชราที่ว่า "หากในใจเขาไม่มีเราแล้ว จะอย่างไรก็ไม่มีเราอยู่วันยันค่ำ"

* ชมคลิปวีดิโอสัมภาษณ์ได้ที่ http://video.sina.com.cn/v/b/88281141-2803301701.html

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040