ปัจจุบัน มีชาวจีนจำนวน 450 คนสมัครเข้าร่วมโครงการบินสู่ดาวเทียมขององค์กร"มาร์ส วัน" แล้ว และอาจมีการเพิ่มขึ้นอีก นายหยัง เป็นชาวมณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ปีนี้อายุ 25 ปี เป็นวิศวกรด้านหลอมโลหะ เขาบอกว่าตัวเองเป็นอาสาสมัครที่ตั้งใจจริงมาก สมัครเข้าร่วมโครงการนี้เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากนั้น เขาได้สร้างกลุ่มแลกเปลี่ยนขึ้นในอินเตอร์เน็ต เพื่อค้นหาผู้ที่สนใจเรื่องนี้ร่วมกันติดตามผลคืบหน้าของโครงการ และถ้าใครมีปัญหาไม่เข้าใจ เขาก็จะช่วยอธิบายอย่างละเอียด
โครงการย้ายไปอยู่ดาวอังคาร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมมีความกระตือรือร้นและตั้งใจสูงขนาดนี้ เขาเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็ก เขาอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีและฟิสิกส์พอถึงสมัยมัธยมปลาย ได้อ่านนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจำนวนมาก จนมีเพิ่มความรู้ด้านดาราศาสตร์มากขึ้น จึงค่อยๆ เกิดความใฝ่ฝันขึ้นมา นั่นก็คืออยากเป็นนักบินอวกาศ แต่เสียดายที่สายตาสั้น จึงหมดสิทธิ์ไป เลยหันมาศึกษาวิชาการหลอมโลหะ เมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับ "มาร์ส วัน" รู้สึกว่าความฝันกำลังจะเป็นจริงขึ้นมาอีก เพราะว่าโครงการนี้ไม่มีข้อจำกัดด้านสายตา ทำให้เขามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
แต่โครงการนี้มีลักษณะหรือเงื่อนไขบังคับสำคัญคือ เป็นการเดินทางแบบวันเวย์ คือไปแล้วอาจจะไม่มีวันกลับ เมื่อเขาบอกพ่อแม่เรื่องนี้แล้ว พ่อแม่ไม่ได้แสดงว่าเห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ ส่วนเขาเองได้ทำใจไว้แล้วว่า "ผมยังหนุ่มอยู่ ควรไปตามหาความใฝ่ฝันของตัวเอง ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ยังดีกว่าเสียดายเมื่อแก่แล้วไม่ได้ทำ" ต่อปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่นการได้รับรังสี การอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก เขาบอกว่าเขารู้ความเสี่ยงประการต่างๆ ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุดคือจิตใจต้องเข้มแข็งเพียงพอ
นายหยังกล่าวด้วยความมั่นใจว่า ตั้งแต่เข้าร่วมการฝึกซ้อมจนถึงการบินไปสู่ดาวอังคารจริงๆ ยังมีเวลาอีก 8 ปี ในช่วง 8 ปีนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจจะพัฒนาไปจนสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ และ "ไม่แน่นะครับว่าถึงเวลานั้น เราอาจจะกลับสู่พื้นโลกได้ด้วย" เขาเห็นว่า ถ้าสามารถเป็นอาสาสมัครขึ้นสู่ดาวอังคารจะดีที่สุด ถ้าไม่ได้จริง เพียงการได้เข้าร่วมการฝึกฝน ก็นับว่าดีอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเคยเข้าร่วมการฝึกซ้อม ก็มีโอกาสมากกว่าคนอื่นที่จะไปดาวอังคารในคราวหน้า เพราะนาซายังมีโครงการจะไปดาวอังคารในปี 2030 อีก
การไปดาวอังคารเป็นการเดินทางเที่ยวเดียว
ส่วนนายสวี เป็นผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว เมื่อได้ทราบข่าวจากอินเตอร์เน็ต ก็รีบไปปรึกษากับเพื่อน เพราะเขาภาษาอังกฤษไม่ค่อยดี แม้ว่ายังไม่ค่อยเข้าใจเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ แต่มีจุดหนึ่งเขาแน่ใจมากคือ ไปแล้วไม่กลับ เขาบอกว่าโครงการดีมาก เพราะเราควรเตรียมดวงดาวสำรองสำหรับโลกใบนี้ สำหรับการเดินทางแบบวันเวย์ เขาไม่มีการลังเลใดๆ เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่จะเสียสละตัวเองเพื่อมนุษยชาติ เพียงแต่เขายังไม่ได้บอกพ่อแม่ ถ้าถูกคัดเลือกจริงๆ เขาจะพยายามโน้มน้าวให้พ่อแม่เข้าใจและยอมรับ
คาดคิดว่าบรรดาอาสาสมัครอาจมีความเห็นความเข้าใจคล้ายคลึงกัน แต่ในสายตาผู้เชี่ยวชาญ โครงการนี้ยังมีอุปสรรคที่ต้องเผชิญอีกมาก นายผัง จือเฮ่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินอวกาศ และบรรณาธิการใหญ่นิตยสาร "อวกาศสากล" เห็นว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะดำเนินโครงการนี้ได้สำเร็จ ก่อนอื่น การขึ้นสู่ดาวอังคารเป็นโครงการที่สลับซับซ้อนมาก ต้องการงบประมาณก้อนมหึมา โครงการขึ้นสู่ดวงจันทร์ของยานอวกาศอะพอลโลของสหรัฐฯ ได้ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปัจจุบัน ส่วนการขึ้นสู่ดาวอังคารคงจะต้องใช้งบฯ ถึง 400,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แหล่งที่มีของเงินทุนก้อนนี้ย่อมหาไม่ได้ง่ายๆ แน่นอน
นอกจากนี้ ยานอวกาศที่ผลิตโดยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทาง 8-9 เดือนกว่าจะถึงดาวอังคารได้ ถ้ารวมขาไปและขากลับ จะต้องใช้เวลา 520 วัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักบินอวกาศอย่างมาก เพราะในสภาะไร้น้ำหนัก กล้ามเนื้อจะเสื่อมโทรมได้ง่าย และกระดูกจะสูญเสียแคลเซียม นอกจากนั้น ความโดดเดี่ยวและเสียงรบกวนเป็นเวลานานก็จะทำให้นักบินมีปัญหาด้านอารมณ์ด้วย และเขายังแนะนำอีกว่า ในยานอวกาศ จำนวนของนักบินต้องเป็นเลขคู่ เพื่อสะดวกกับการจับคู่คุยกันหรือทำงานด้วยกัน และต้องมีแพทย์ วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้รอบด้าน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่โครงการ "มาร์ส วัน" ต้องเผชิญหน้าและแก้ไขให้ได้ล่วงหน้า
อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ "ดาวอังคาร 500"
แม้ว่ามีปัญหาไม่น้อย แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางความตั้งใจที่จะทำให้ความใฝ่ฝันกลายเป็นจริงได้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนปี 2010 โครงการ "ดาวอังคาร 500" ที่ริเริ่มโดยรัสเซียและมีหลายประเทศเข้าร่วมเริ่มดำเนินการทดลอง ซึ่งมีการจำลองการบิน และการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ตลอดจนการกลับสู่พื้นโลก เพื่อบันทึกผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจในกระบวนการขึ้นสู่ดาวอังคารทั้งหมด นายหวัง ยั่วที่มาจากศูนย์นักบินอวกาศจีนเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร 6 คนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เขาบอกว่าเพื่อเก็บข้อมูลให้ละเอียดทุกอย่าง พวกเขาต้องทำการทดลองรวม 105 รายการ ทุกวันหลังตื่นนอน ก็ต้องวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิตและชั่งน้ำหนัก แล้วต้องตรวจเลือด ปัสสาวะและน้ำลาย ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยตนเอง พวกเขายังต้องติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้กับร่างกายทั้งวัน บางทีแม้แต่ยามเข้านอนก็ถอดออกไม่ได้
การจำลองใช้ชีวิตในดาวอังคารถือเป็นการท้าทายสำหรับอาสาสมัคร เพราะอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารประป๋องและแบบอบแห้ง แทบไม่มีอะไรที่เป็นอาหารสด ในเรือนกระจกของยานปลูกผักจำนวนเพียงเล็กน้อย สามารถเอามาประกอบเป็นอาหาร และรับประทานตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด ส่วนใหญ่เป็นขนมปัง ซีส มันฝรั่งและแอ๊ปเปิ้ลไซรัป นอกจากนั้น คืออาหารอบแห้งที่ทำเป็นผงๆ การรับประทานอาหารเหล่านี้เพียงเพื่อสนองความต้องการของร่างกายเท่านั้น รสชาติไม่ค่อยอร่อย แม้ว่าผงแต่ละซองเขียนว่าเป็นรสเนื้อไก่ เนื้อวัวหรือผัก แต่เมื่อรับประทานแล้วรู้สึกว่าล้วนมีรสชาติเหมือนๆ กันทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังต้องรับประทานวิตามินถึง 6 เม็ดต่อวันด้วย
นอกจากอาหารแล้ว ความว้าเหว่และโดดเดี่ยวถือเป็นการท้าทายอย่างมากเหมือนกัน นายหวัง ยั่วมักเล่นเกมส์ หรือดูวีดิโอที่เพื่อนส่งมาให้ทางอีเมล หรือไม่ก็เล่นเครื่องดนตรี อ่านหนังสือ ฝึกเขียนลายมือพู่กัน พยายามระบายความเครียด จะได้ไม่ส่งผลกระทบถึงสมาชิกคนอื่น ในยานอวกาศอนุญาตให้อาบน้ำ 10 วันต่อครั้ง ซึ่งถือเป็นเวลาที่ผ่อนคลายความเครียดได้ดีที่สุดและสบายใจที่สุด
อาสาสมัครจำลองการไปสู่ดาวอังคาร
ทั้งหมดนี้เห็นแล้วว่า การบินในอวกาศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่เหมือนที่เราดูในภาพยนตร์ฮอลลิวูด ไม่ได้สวยงามและโรแมนติกอย่างที่นึกฝัน กว่าจะถึงดาวอังคารหรือดาวอะไรอื่น ยังคงต้องเดินทางอีกยาวนานและทำงานอีกมากมาย
โครงการบินสู่ดาวอังคารของเนเธอร์แลนด์ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากอาสาสมัคร ซื้อตั๋วได้ฟรี แต่อาจจะเป็นตั๋ววันเวย์เที่ยวเดียว ใครสนใจก็ลองเข้าไปชมเว็บไซต์ "มาร์ส วัน" ไม่แน่นะ ท่านอาจจะเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้ขึ้นไปสู่ดาวอังคารคนแรกก็ได้