วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากลหรือวันเมย์เดย์ สมัยก่อนประเทศในแถบยุโรปจะถือเอาวันเมย์เดย์เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ของเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอผลผลิตดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จน เมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย เมื่อภาคอุตสาหกรรมได้แพร่ขยายตัวมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งปัญหาแรงงานก็มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จนทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยก็ได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงานซึ่งเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงานรวมถึงคุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยทางคณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้มีการจัดประชุมขึ้นพร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของวันกรรมกรแห่งชาติ และต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2500 ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธี
ระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย
ในทุกๆ ปี จะถือเอาวันนี้เป็นวันที่ทางภาคประชาชนและเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้ออกมาร่วมกันจัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของแรงงานพึงจะมี และในปีนี้สหพันธ์แรงงานไทย 43 องค์กรร่วมจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล เดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงาน เมื่อ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยองค์กรภาคีสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวม 43 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรม "วันกรรมกรสากล สามัคคีกรรมการ ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน" เนื่องในโอกาสครบรอบ 123 ปี วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.56 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการจ้างแรงงานและสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจากรัฐบาล โดยมีการเดินขบวนจากบริเวณหน้ารัฐสภา มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้นำรัฐบาลให้ออกมาช่วยเหลือ
ไม่ว่ากี่ปีผ่านไป ปัญหาแรงงานก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป และข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ก็ไม่ต่างไปจากเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สิทธิขั้นพื้นฐานผู้ใช้แรงงานพึงจะมีและควรจะได้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขและปฏิบัติอย่างจริงจังจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ได้แต่หวังว่า นอกจากผู้ใช้แรงงานจะได้สิทธิหยุดพักผ่อนในวันแรงงานแห่งชาติเป็นประจำแล้ว การปฏิบัติต่างๆ ควรจะเป็นรูปธรรมตามมาด้วย
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์