ในรายการคุยกันวันละประเด็นวันนี้ เราจะมาคุยในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้า และการลงทุนระหว่างจีน-ไทย
หลังเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โอกาสทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีโอกาสขยายการค้า การลงทุนกับประเทศจีนให้มากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่น
นอกจากนี้ จีน-ไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรมาช้านาน สองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 37 ปีที่แล้ว หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศนับวันมีความใกล้ชิดมากขึ้น ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับจีนมากขึ้น ทำให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเป็นอันดับ 2 ของไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนจีน ต่อมา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเดินทางไปเยือนไทย จากการเยือนของผู้นำสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศที่จะสร้างความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างกัน เห็นพ้องในการกำหนดเป้าหมายการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2015 ผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การค้าสินค้าเกษตร การลงทุนระหว่างกัน และโครงการความร่วมมือด้านอื่นๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง เช่น อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง อ่าวเป่ยปู้ และแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ผู้นำของสองประเทศยังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ ข้อตกลงเหล่านี้ครอบคลุมใน 4 ประเด็น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า และการลงทุนระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น ประเด็นแรก ข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ หลังจากที่ไทยได้ประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ไทยเกิดน้ำท่วมต่อไป และจะทำให้มีระบบชลประทานดีขึ้น
ประเด็นที่ 2 ความร่วมมือสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ตัวแทนรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ได้ข้อสรุปจะมีการดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในเบื้องต้น 2 สายก่อน คือ เส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย คาดว่าปลายปี 2013 จะสามารถทำการเปิดประมูลได้ จีนหวังว่าจะได้รับเลือกเป็นผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างดังกล่าว เพราะจีนมีจุดเด่นทั้งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย พลังงานสะอาด ความเร็วในการก่อสร้าง และต้นทุนต่ำ หากเทียบกับเยอรมนี ต้นทุนของจีนจะถูกกว่าถึง 40% กล่าวได้ว่า เรื่องต้นทุนต่ำจะไม่มีประเทศไหนที่สู้กับจีนได้ นอกจากนี้ จีนมั่นใจว่า ถ้าให้จีนรับเหมาก่อสร้าง การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 สายนี้จะแล้วเสร็จภายในอีก 8 ปีข้างหน้า เมื่อถึงตอนนั้นประเทศไทยก็จะเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งและ โลจิสติกส์ของอาเซียน
ประเด็นที่ 3 ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ถือว่าสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของทุกประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาในรูปแบบสีเขียว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และประเด็นสุดท้าย ความร่วมมือด้านการศึกษา ปัจจุบันไทยและจีนมีการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษากันอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีนักศึกษาไทยมาเรียนที่จีนกว่า 1 หมื่นคน ขณะที่มีนักศึกษาจีนไปเรียนในไทยกว่า 1 หมื่นคนเช่นกัน
นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจแสดงความเห็นว่า จากจีน-ไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรมาช้านาน และจีนเป็นประเทศที่มีตลาดใหญ่ที่จะรองรับการค้าและการลงทุนจากไทยได้อีกมาก ประกอบกับการสนับสนุนการทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้นของรัฐบาลจีน เชื่อว่าในปี 2015 จีน-ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้อย่างแน่นอน ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างจีน-ไทยสูงถึง 69,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยมาลงทุนในจีนกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ในปีนี้ การลงทุนของนักธุรกิจจีนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2011 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ทั้งในกรุงเทพฯและเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่ชาวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว เพราะชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม และค่าใช้จ่ายถูก นอกจากนี้ คาดว่านักธุรกิจจีนยังจะลงทุนในอุตสาหกรรมการเงิน รถยนต์ ไอที เป็นต้น ทั้งนี้ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่นักธุรกิจจีนสนใจลงทุนมากที่สุด เพื่อตอบสนองนโยบาย "บริษัทจีนก้าวไปสู่ต่างประเทศ" ของรัฐบาลจีน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ศึกษาถึงปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงของจีนในไทย รวมถึงแนวโน้มการลงทุนของจีนในไทยในอนาคต โดยเห็นว่า ไทยมีความโดดเด่นด้านที่ตั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ และสาธารณูปโภค เมื่อเปรียบเทียบระหว่างไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ ในมุมมองของจีนนั้น ไทยมีจุดเด่นอยู่ที่ความได้เปรียบด้านที่ตั้ง จากการตั้งอยู่ศูนย์กลางของอาเซียน ทำให้ไทยเป็นทางเชื่อมจีนกับประเทศอาเซียนอื่น เช่น มาเลเซีย, บรูไน, อินโดนีเซีย, และสิงคโปร์ และยังเป็นทางเชื่อมจีนออกสู่ทะเลอีกด้วย นอกจากนั้น ในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไทยมีความพร้อมกว่ากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ขณะที่ในด้านค่าจ้างแรงงาน ไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างรวมค่าสวัสดิการอื่นๆ ตามกฎหมายจีนในกลุ่มมณฑลชายทะเล เช่น กวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง ก็นับว่าไทยยังมีความได้เปรียบมณฑลเหล่านั้น นอกจากนั้น จุดเด่นอีกด้านของไทย คือ การมีภูมิอากาศเหมาะสมและดินอุดมสมบูรณ์เหมาะในการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจบางชนิดที่เป็นที่ต้องการของจีน เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งที่ผ่านมาจีนมีการนำเข้าทั้งยางแผ่น ยางแปรรูป และมันสำปะหลังจากไทยมาก ด้วยความโดดเด่นดังกล่าว ทำให้ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากจีนในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการเข้าไปร่วมทุนปลูกยางพารากับนักลงทุนไทย รวมถึงลงทุนอุตสาหกรรมยาพาราต่อเนื่อง เพื่อส่งออกมายังจีน ได้แก่ ยางแผ่น ยางรถยนต์ และยางแปรรูปอื่นๆ รวมถึงเอทานอลจากมันสำปะหลัง นอกจากนั้นยังมีการลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล ยานยนต์ ขณะที่ในภาคบริการก็มีการลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และบริการทางการเงิน