หลังเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โอกาสทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีโอกาสขยายการค้า การลงทุนกับประเทศจีนให้มากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่น
นอกจากนี้ จีน-ไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรมาช้านาน สองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 37 ปีที่แล้ว หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างสองประเทศนับวันมีความใกล้ชิดมากขึ้น ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับจีนมากขึ้น ทำให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเป็นอันดับ 2 ของไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนจีน ต่อมา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเดินทางไปเยือนไทย จากการเยือนของผู้นำสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศที่จะสร้างความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างกัน เห็นพ้องในการกำหนดเป้าหมายการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2015
ส่วนสาขาการลงทุนที่สำคัญของจีนในไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า นักวิเคราะห์เห็นว่า ทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง นักธุรกิจจีนยังคงจะเข้าไปร่วมทุนปลูกยางพารากับนักลงทุนไทย รวมถึงลงทุนอุตสาหกรรมขั้นสุดท้ายจากผลผลิตการเกษตร เช่น ยางรถยนต์ ซึ่งปีที่ผ่านมา นักลงทุนจีนได้เข้าไปร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง เพื่อใช้นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นสุดท้าย ซึ่งก็คาดว่าในระยะข้างหน้า นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวน่าจะช่วยดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจีนรายอื่นให้ติดตามเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนั้น นักลงทุนจีนยังมีความสนใจในการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ในไทยอีกด้วย
ด้านภาคการผลิต นักลงทุนจีนมีแนวโน้มที่จะไปลงทุนในประเทศไทย โดยจะตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงงานประกอบยานยนต์ และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเมื่อครั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยเยือนจีนเมื่อเดือนเม.ย. 2012 หลายบริษัทของจีนได้แสดงความสนใจและพร้อมที่จะไปลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ด้านภาคบริการ นักลงทุนจีนมีแนวโน้มจะไปจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า และลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทย เช่น คอนโดมิเนียม
นอกจากการลงทุนของเอกชนแล้ว รัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในไทย ซึ่งเป็นโครงการมูลค่าสูง และอาจต้องทำในรูปการประมูลโครงการ ซึ่งสาขาที่คาดว่าจีนมีความสนใจเข้าไปร่วมลงทุน ได้แก่ โทรคมนาคม และโลจิสติกส์ โดยตัวอย่างโครงการลงทุนสำคัญที่อยู่ระหว่างศึกษา คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย ที่ค่อนข้างชัดเจนมี 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-หนองคาย วงเงินลงทุนรวมราว 430,000 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้ว นักธุรกิจชั้นนำของจีนกว่า 100 คนจาก 89 บริษัทเดินทางไปประเทศไทย เพื่อเจรจาและจับคู่ทางการค้ากับผู้ประกอบการไทย นักธุรกิจจีนเหล่านี้มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ยา และเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ พลังงานและเหมืองแร่ อสังหาริมทรัพย์ การเจรจาและจับคู่ทางการค้าระหว่างนักธุรกิจจีน-ไทยครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการเจรจาและจับคู่ทางการค้าทั้งหมดกว่า 100 คู่ ในประเภทธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว วัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ เคมีและเวชภัณฑ์ สิ่งทอ และเสื้อผ้า ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร และเครื่องมือ ในจำนวนดังกล่าวได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ 8 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการร่วมลงทุนในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ โครงการร่วมลงทุนโรงแรม ร่วมลงทุน รีสอร์ท เป็นต้น ส่วนด้านการค้า มีการตกลงที่จะซื้อสินค้าของไทย เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง มูลค่ารวม 1.5 แสนล้านบาท
การเจรจาครั้งนี้ทำให้เกิดการค้าการลงทุนร่วมกันกว่า 2 แสนล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก กล่าวได้ว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในปัจจุบัน ทำให้นักธุรกิจจีนต้องการขยายโอกาสการลงทุนที่ต่างประเทศ นักธุรกิจจีนมองว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในทุกด้าน เชื่อได้ว่า จากนี้ไป การลงทุนของจีนจะเข้าไปในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การค้าขายระหว่างจีน-ไทยจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ