สื่อมวลชนเกาหลีใต้รายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทเอเชียน่า แอร์ไลน์เคยจัดให้หัวหน้าพนักงานบนเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่่ผ่านมา คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ ส่งเอกสารถึงเอเชียน่า แอร์ไลน์ 2 ฉบับ โดยเรียกร้องให้ระงับการแถลงข่าวไว้ก่อน เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน เกาหลีใต่ไม่พอใจต่อการที่สหรัฐฯ ประกาศผลการตรวจสอบตลอดเวลา โดยเฉพาะได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์กล่องดำ หรือเครื่องบันทึกการบิน เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้กล่าวว่า การวิเคราะห์ข้อมูลจากกล่องดำอย่างละเอียดและถูกต้องนั้น ต้องการใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ฝ่ายสหรัฐฯ กลับเผยข้อมูลก่อนเสร็จสิ้นการประเมินและวิเคราะห์อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เนื่องจากอาจมีความเป็นไปได้หลายอย่างที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ความผิดพลาดของศูนย์ควบคุมการบิน ปัญหาที่เกิดจากตัวเครื่องบิน หรือสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้น ฝ่ายเกาหลีใต้จึงเรียกร้องให้ฝ่ายสหรัฐฯ ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการเปิดเผยข้อมูล
วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า จะเน้นตรวจสอบผู้ขับเครื่องบิน เช่นวิธีการขับ ประสบการณ์ในการขับเครื่องบินรุ่นนี้ ตลอดจนขั้นตอนการฝึกฝน เป็นต้น ส่วนฝ่ายเกาหลีใต้เห็นว่า การที่สหรัฐฯ กล่าวเช่นนี้แสดงว่าฝ่ายสหรัฐฯ ถือความผิดพลาดในการควบคุมเครื่องบินของคนขับเป็นประเด็นสำคัญในการตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดของคนขับ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญการบินกับผู้ขับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่มีประสบการณ์ในการขับเครื่องบินรุ่นนี้มานาน เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมทีมงานตรวจสอบ