ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ราชวงศ์หยวน ผู้คนก็เริ่มใช้คำว่า "หูท่ง" แต่ทำไมจึงเรียกว่า "หูท่ง" นั้น นักวิจัยมีความคิดเห็นต่างกัน
ศาสตราจารย์จางชิงฉางเคยวิเคราะห์ในแง่ภาษาศาสตร์ไว้ในหนังสือเรื่อง "หูท่งกับอื่น ๆ " ว่า คำว่า "หูทุ่ง" มาจากคำพ้องเสียงของคำว่า "huto" คำว่า "หูท่ง" ใช้เฉพาะแต่ในปักกิ่งและเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือของจีน เป็นคำสองพยางค์ ได้แก่ "hú" กับ "tòng" ส่วนในภาษามองโกล ภาษาเติร์ก ภาษาอุยกูร์ ภาษาเอ้อเวินเค่อ ภาษาแมนจูและภาษาอื่น ๆ คำที่หมายความว่า "บ่อน้ำ" ออกเสียงว่า "huto" ฉะนั้น "hútòng" จึงเป็นพ้องเสียงของ"huto" เพราะในสมัยโบราณ ผู้คนมักจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำและบ่อน้ำก็เป็นแหล่งน้ำหนึ่งที่สำคัญโดยเฉพาะในภาคเหนือของจีนซึ่งมีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างน้อย ที่ ๆ คนจำนวนมากอาศัยอยู่มักจะมีบ่อน้ำแต่ละแห่งเป็นศูนย์กลาง ต่อมาพวกเขาเริ่มปลูกบ้านเรือนและใช้ชีวิตในแถบนี้และก่อรูปเป็นชุมนุมชนและตรอกเล็กซอยน้อยต่าง ๆ ในที่สุด ในภาษาจีนกลางก็เรียกตรอกเล็กซอยน้อยเหล่านี้ว่า "hútòng" โดยใช้คำพ้องเสียงของคำว่า "huto"
นักค้นคว้าอีกผู้หนึ่งเคยเขียนบทความเพื่ออธิบายที่มาของหูทุ่งกรุงปักกิ่งว่า ตามการศึกษาสำรวจ หูทุ่งเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน แต่สมัยนั้นไม่เรียกว่า "hútòng" กลับเรียกว่า "huǒnòng" คำว่า "huǒ" หมายถึงไฟ คำว่า "nòng" หมายถึงถนน ฉะนั้น ในเวลาธรรมดา "huǒnòng" เป็นช่องว่างระหว่างบ้านเรือน หากมีไฟไหม้เมื่อไร ก็จะกลายเป็นสาธารณูปโภคที่สามารถป้องกันการลุกลามของไฟไหม้ เพื่อพิสูจน์ความคิดเห็นของเขา นักวิจัยคนนี้ยังอ้างหนังสือเรื่อง "ซีจินจื้อ" ซึ่งบันทึกไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์หยวน ปักกิ่งก็มี "huǒnòng" 384 แห่ง
แต่นักวิจัยญี่ปุ่นผู้หนึ่งเห็นว่า คำว่า "หูท่ง" มาจากภาษามองโกล หมายถึงถนนเล็ก ๆ เขาบอกว่า ในมองโกเลีย ชุมชนที่ใหญ่กว่าหมู่บ้านก็เรียกว่า "หูท่ง" เพราะฉะนั้น "หูท่ง"เป็นที่ชุมชนค่อนข้างใหญ่ แล้วค่อย ๆ พัฒนาเป็นเมือง
นอกจากนี้ยังมีการอธิบายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีความหมายทางการเมืองว่า ในสมัยโบราณชาวจีนมักจะเรียกคนที่อาศัยอยู่ทางเหนือของจีน โดยเฉพาะชาวมองโกล ชาวเติร์กและชาวอื่น ๆ รวมว่า ชาว "หู" แล้วคำว่า "tòng" ในภาษาจีน แปลว่าปกครองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้น "หูท่ง" จึงหมายความว่า ชาวมองโกลได้ปกครองประเทศจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว
ที่กล่าวมานั้นเป็นสมมุติฐานตามความคิดเห็นของแต่ละคน ไม่จำต้องวินิจฉัยสรุปว่า ข้อไหนถูก ข้อไหนผิด แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่เราควรแน่ใจว่า หูท่งเริ่มปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน มีบทบาทเท่ากับถนน เชื่อมบ้านเรือนให้ติดต่อกันและก็เป็นผลงานการผสมผสานกันในวิถีชีวิตระหว่างชาวฮั่นกับชนกลุ่ยน้อย เป็นสัญลักษณ์ของกรุงปักกิ่ง
(Yim/Cui)