ปัจจุบันประเทศจีนมีจำนวนคนที่เดินทางออกไปศึกษาต่อต่างประเทศมากที่สุดในโลก ซึ่งในอดีตต้องประสบกับปัญหาสมองไหลชวนปวดหัวใจไม่น้อย แต่เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วทำให้ปัญหานี้ค่อยๆ ลดลง ในปัจจุบันบรรดานักเรียนนอกทั้งหลายต่างเลือกที่จะกลับประเทศมาหางานทำมากขึ้น
โดยเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ศูนย์บริการศึกษาต่อต่างประเทศสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจีน ได้ออกมาประกาศรายงานข้อมูลการทำสำรวจนักเรียนนอกนับหมื่นคน ที่เลือกจะกลับมาหางานทำในประเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรวบรวมจากนักเรียนที่เดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ และดำเนินการเรื่องสำมะโนครัวและจดหมายรับรองการว่าจ้างงานผ่านศูนย์บริการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม ปี 2012 โดยกลุ่มสำรวจมีอายุระหว่าง 24-30 ปีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 และเลือกกลับประเทศส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58
ในจำนวนนักศึกษาจีน 11,045 คน กระจายศึกษาอยู่ใน 54 ประเทศ อาทิ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฯลฯ กว่าร้อยละ 95 เลือกที่จะกลับประเทศ โดยป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทร้อยละ 76 ปริญญาเอกร้อยละ 11.2 ปริญญาตรี 11.9 และ ซึ่งจบการศึกษาสาขาบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์มากสุดคิดเป็นร้อยละ 77.8
ทั้งนี้ นับจากการปฏิรูปเปิดประเทศปี 1978-2012 เป็นต้นมา จำนวนนักเรียนจีนที่เดินทางออกไปศึกษาต่อต่างประเทศเท่ากับ 2,644,700 แล้วเดินทางกลับประเทศ 1,091,200 คน โดยปี 2012 มีจำนวนนักเรียนที่เดินทางไปศึกษาต่อ 399,600 คน โดยเป็นทุนส่วนตัว 374,500 คน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.7 และเมื่อศึกษาจบเดินทางกลับประเทศ 272.900 คน เพิ่มขึ้นกว่าปี 2011 86,700 คน คิดเป็นร้อยละ 46.57
รองผู้อำนวยการศูนย์บริการศึกษาต่อต่างประเทศระบุว่า แม้ว่าประเทศจีนก้าวเข้าสู่ช่วงภาวะสมองไหลลดลง ปัญญาชนเลือกกลับประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีผลงานศึกษาวิจัยหรือมีประสบการณ์การทำงานเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสูง ยังคงมีอัตรากลับประเทศในระดับต่ำ ประเทศจีนยังคงต้องทุ่มเทพลังอย่างมากในการดึงดูดบุคลากรชั้นยอดระดับมันสมองเหล่านี้กลับมา
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府