สหภาพยุโรปหรืออียูเป็นตลาดผู้บริโภคของเล่นใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งตลาดของเล่นอียู ร้อยละ 80 ขึ้นไปเป็นของเล่นนำเข้าจากจีนที่มีแหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑลกว่างตง โดยระเบียบความปลอดภัยของเล่นฉบับใหม่ของอียูประกาศมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยถูกระบุว่าเป็นข้อบังคับที่เข้มงวดที่สุดในโลก เพราะคุมเข้มมาตรฐานทางฟิสิกส์ เคมี อิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพ รังสีและอื่นๆ จากเดิม 16 ข้อเพิ่มเป็น 57 ข้อ
อาทิ รถเด็กเล่นที่สามารถพับย่อส่วนได้ นักออกแบบหรือผู้ผลิตต้องคำนึงถึง อันตรายที่อาจเกิดหนีบนิ้วมือเด็กได้ ระวังพวกชิ้นส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือขอบมุมที่แหลมคม รวมถึงเส้นสายต่างๆ ที่อาจเกิดการพันคอทำให้ขาดอากาศได้
โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่เป็นอันตราย ที่กำหนดสารต้องห้ามในของเล่นเพิ่มจากเดิม 8 ชนิดเป็น 85 ชนิด และเป็นครั้งแรกที่ห้ามใช้สารประกอบไนโตรซามีนเกือบ 300 ชนิด และสารที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ยีนกลายพันธุ์ รวมถึงสารจำพวก CMR ที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ และยังเพิ่มข้อจำกัดการรั่วไหลของธาตุที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจาก 8 ชนิด เป็น 19 ชนิด และกำหนดห้ามใช้สารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง 68 ชนิด
มาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นมีความหมายต่อผู้ผลิตของเล่นจีนอย่างไรบ้างนั้น ประธานกรรมการบริษัทส่งออกของเล่นแห่งหนึ่งในเมืองตงกว่าน มณฑลกว่างตง ระบุว่า เงื่อนไขแต่ละข้อล้วนหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น พิจารณาจากแง่มุมด้านเทคนิคแล้วไม่มีปัญหาสามารถทำได้
เพราะสำหรับผู้ผลิตแล้ว เพื่อให้ของเล่นของตนได้มาตรฐานตามระเบียบใหม่ของอียู ย่อมต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่สูงขึ้น ใช้วัตถุดิบที่ดีมีราคาแพงขึ้น ซึ่งต้นทุนค่าแรงและค่าวัตถุดิบย่อมสูงขึ้นตาม ภาระก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค เพราะราคาขายในท้องตลาดย่อมสูงขึ้น ทำให้กังวลว่ายอดจำหน่ายในตลาดอาจตกลง
ด้านโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนได้แนะว่า บริษัทผู้ผลิตของเล่นนอกจากต้องกระตือรือร้นปรับตัวให้สอดรับกับมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลง ยิ่งต้องยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันโดยรวมให้ได้ อาทิ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างแบรนด์สินค้าตน
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府