วันที่ 21 ตุลาคมนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจัดขึ้นที่ลักเซมเบิร์ก ช่วงการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศจาก 28 ประเทศในสหภาพยุโรปได้หารือกับนางออง ซาง ซูจีผู้นำพรรคฝ่ายค้านของเมียนมาร์ขณะร่วมรับประทานอาหารเที่ยงในประเด็นการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมาร์
แถลงการณ์ที่ประกาศหลังการประชุมเสร็จสิ้นระบุว่า วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ สหภาพยุโรปจะส่งคณะผู้แทนที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ และนักธุรกิจของสหภาพยุโรปเดินทางไปเมียนมาร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมภาคปฏิบัติระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยจะหารือในเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการความเป็นประชาธิปไตยของเมียนมาร์มากขึ้น
สื่อมวลชนประเทศตะวันตกรายงานว่า นางอองซาน ซูจีต้องการให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยของเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเมียนมาร์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเมียนมาร์ ผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องมีประสบการณ์ด้านการทหาร ซึ่งเท่ากับห้ามไม่ให้สตรีลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี นอกจากนี้ ยังมีมาตราที่กำหนดไว้ว่า ชาวเมียนมาร์ที่มีบุตรหลานถือสัญชาติต่างประเทศจะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี สำหรับออง ซาง ซูจี และสามีของเธอ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษมีบุตรสองคน ซึ่งถือสัญชาติอังกฤษทั้งคู่ หากตามข้อกำหนดที่มีอยู่ นางออง ซาง ซูจีจะไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ด้วยเหตุนี้ ช่วงที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้เมียนมาร์ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม นางออง ซาง ซูจี ต้องการเห็นสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนมากกว่านี้อีก
ปีหลังๆ นี้ เมียนมาร์เริ่มทำการปฏิรูปการเมือง สหภาพยุโรปจึงตัดสินใจปรับปรุงและพัฒนาความสัมพันธ์กับเมียนมาร์ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนางแคทเธอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรปได้เดินทางไปเยือนเมียนมาร์ตามลำดับ หลังจากนั้น สหภาพยุโรปประกาศระงับมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์เป็นเวลาหนึ่งปี ยกเว้นมาตรการห้ามขนส่งอาวุธให้แก่เมียนมาร์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์เดินทางไปเยือนสหภาพยุโรป ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ระหว่างการเยือน ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เรียกร้องให้สหภาพยุโรปยุติการคว่ำบาตรเมียนมาร์ทางเศรษฐกิจโดยเร็ว ด้านผู้นำสหภาพยุโรปต้องการให้รัฐบาลเมียนมาร์ผลักดันการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ การเยือนสหภาพยุโรปของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ครั้งนี้เป็นการเปิดหน้าใหม่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและเมียนมาร์ หลังจากนั้นครึ่งเดือน สหภาพยุโรปตัดสินใจจะยุติการใช้มาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์ทุกประการโดยถาวร ยกเว้นมาตรการห้ามขนส่งอาวุธให้แก่เมียนมาร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้าให้แก่เมียนมาร์ นอกจากนี้ ยังจะให้การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจมูลค่า 200 ล้านยูโรแก่เมียนมาร์ระหว่างปี 2012-2013
(YIM/cai)