การประชุมสองสภา ไม่เพียงแต่เป็นหน้าต่างที่ทั่วโลกใช้ส่องดูกิจการภายในและการทูตของจีนเท่านั้น ยังเป็นงานทำข่าวครั้งใหญ่ปีละครั้งของสื่อน้อยใหญ่ด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาที่นักข่าวต่างหวังจะถามถึงเรื่องที่เป็นปัญหาอ่อนไหวต่างๆ โดยเฉพาะนักข่าวต่างประเทศที่จะให้ความสำคัญกับข้อได้เปรียบนี้ของตนเป็นพิเศษ ถามในคำถามที่นักข่าวจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งหลายไม่สามารถถามได้ นั่นส่วนหนึ่งเป็นเพราะถามในเวทีที่เปิดเผยต่อสาธารณชนนั่นเอง
สถิติแสดงว่า นับจากปี 1998 ถึง 2013 ในช่วงระยะเวลา 16 ปีของการประชุมสองสภานี้ มีโอกาสถามคำถามในงานแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีรวม 193 ครั้ง เฉลี่ยแล้วปีละ 12 ครั้ง ซึ่งจำนวนนักข่าวก็ได้เพิ่มขึ้นจาก 600 คนเป็นกว่า 3,000 คนแล้ว โดยโอกาสถามคำถามเกือบครึ่งจะมอบให้กับผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ ซึ่งนักข่าวจากไฟแนนเชียลไทมส์ของอังกฤษ มีชื่อขึ้นอันดับหนึ่งด้วยการตั้งคำถามได้มากถึง 9 ครั้ง รองไปเป็นเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลของสหรัฐ ซีเอ็นเอ็น และรอยเตอร์ครองอันดับสองร่วมกันด้วยสถิติ 7 ครั้ง
ในงานแถลงข่าวหลังปิดประชุมสองสภาปี 2012 นักข่าวรอยเตอร์ได้ตั้งคำถามต่อเวินเจียเป่าเกี่ยวกับ "เหตุการณ์หวังลี่จวิน" อดีตรองนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ที่นำไปสู่การจับกุมนายปั๋วซีไหล และก่อนหน้านั้นในปี 2011 ในงานแถลงข่าวของสภาปรึกษาการเมือง ก็มีนักข่าวจาก VOA (Voice of America) ยิงคำถามใส่ตรงๆ ต่อข้อสงสัยที่ว่า "การจัดประชุมสองสภาแต่ละปีนั้นต้องใช้เงินไปมากเท่าไหร่?" เป็นต้น
แม้ว่านักข่าวต่างประเทศจะรับมือได้ยาก แต่ปฏิกิริยาตอบสนองของโฆษกกลับยิ่งแถลงยิ่งเยือกเย็น เมื่อเจอกับประเด็นอ่อนไหวต่างๆ หลี่จ้าวซิงโฆษกสภาผู้แทนปี 2010-2012 และจ้าวฉี่เจิ้งโฆษกสภาที่ปรึกษา ต่อมาปี 2013 เป็นฟู่อิ๋งและหลี่ว์ซินหัว ก็ไม่มีการบ่ายเบี่ยงใดๆ เนื่องจากเปี่ยมด้วยประสบการณ์ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหรือด้านประชาสัมพันธ์ จึงไม่มีการตอบหลบเลี่ยงในทำนองว่า "ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ" "ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน" การไม่กล่าวว่า "ไม่สามารถให้รายละเอียดได้" กลายเป็นหนึ่งในกฎการแถลงข่าวการประชุมสองสภาไปแล้วก็ว่าได้
(ซ้ายบน)หลี่จ้าวซิง กับ จ้าวฉี่เจิ้ง
(ซ้ายล่าง) หลี่ว์ซินหัว กับ ฟู่อิ๋ง
ทั้งนี้ กับคำถามในประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนต้องปวดหัวไปตามๆ กัน แต่จ้าวฉี่เจิ้งกลับเห็นว่า ยิ่งอ่อนไหวยิ่งจำต้องตอบ "ปัญหาอ่อนไหวเหล่านั้นหากไม่ตอบ แล้วยังต้องมีงานแถลงข่าวอีกหรือ?" ส่วนจะต้องตอบคำถามอย่างไรนั้น เขาเห็นว่าต้องอาศัยความสามารถของโฆษกเอง ที่สำคัญคือไม่สามารถพูดโกหก
สำหรับปีนี้ ในงานแถลงข่าวการประชุมสภาผู้แทนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม หันฉางฟู่ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของจีน ถูกนักข่าวจีนจากไชน่าเดลี่ตั้งคำถามว่า "ตัวท่านเองได้ทานอาหารที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่?" และได้ตอบว่าก็ทานอาหารที่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่เช่นกัน หรือพูดให้ชัดก็คือน้ำมันถั่วเหลือง เพราะผลิตภัณฑ์น้ำมันถั่วเหลืองของจีนนั้นได้มาจากถั่วเหลืองนำเข้า ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นถั่วเหลืองที่ดัดแปลงพันธุกรรมนั่นเอง
หันฉางฟู่ รมต.กระทรวงเกษตรจีน
ตอบคำถามถึงการควบคุมพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม
โดยชี้แจงว่าถั่วเหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยจากประเทศผู้ผลิตและผ่านการตรวจสอบที่เข้มงวดของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านชีวภาพของการเกษตรดัดแปลงพันธุกรรมแห่งประเทศจีนแล้ว
พร้อมทั้งแสดงท่าทีของกระทรวงการเกษตรจีนที่มีต่อปัญหาการดัดแปลงพันธุกรรมว่า ประการแรก ทุ่มเทงานด้านการวิจัย ยึดมั่นในการนวัตกรรม ประการที่สองคือเผยแพร่อย่างระมัดระวัง รับประกันเรื่องความปลอดภัยให้ได้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมาก พื้นที่เพาะปลูกน้อย ประสบกับภัยแล้ง ขาดน้ำ และยังเจอปัญหาศัตรูพืชมากมาย ทั้งโรคและแมลง เป็นต้น หากจะรับประกันให้ธัญญาหารหลักมีความปลอดภัยและมีปริมาณตอบสนองได้พอเพียง จำต้องเดินบนหนทางการนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
มีนักวิเคราะห์เห็นว่า การไม่ไหวหวั่นกับการตอบปัญหาที่อ่อนไหว แสดงให้เห็นถึงการย่างสู่ความเป็นประชาธิปไตยอีกก้าวหนึ่งของจีน และความเชื่อมั่นของรัฐบาลจีนได้อย่างชัดเจน
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府