วันที่ 21 มีนาคม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ลงนามพร้อมประกาศรับรองการผนวกดินแดนไครเมียและเมืองเซวัสโตปอลเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมายของรัสเซีย โดยจัดตั้งรัฐไครเมีย และแต่งตั้งนายโอเลก เบลาเวนเซฟ เป็นตัวแทนประธานาธิบดีในรัฐนี้
นายปูตินประกาศในพิธีลงนามว่า สหพันธรัฐรัสเซียเริ่มปรับปรุงระบบกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคมของไครเมียเพื่อให้เข้าร่วมรัสเซียอย่างราบรื่นขึ้น
วันเดียวกัน นายปูตินได้ประชุมกับคณะกรรมการรักษาความมั่นคงของรัสเซียเพื่อหาทางรับมือกับการคว่ำบาตรจากภายนอก อย่างไรก็ตาม รัสเซียจะยังไม่ดำเนินมาตรการใดๆ ต่อการคว่ำบาตรรอบที่สองของสหรัฐ รวมทั้งกรณียูเครนยกเลิกการทำวีซาฟรีให้ชาวรัสเซีย
นายแอนเดิร์ส ราสมุสเซน เลขาธิการองค์การนาโตกล่าวในที่ประชุมฟอรั่มบรัสเซลส์ว่า วิกฤตยูเครนเป็นวิกฤตภูมิศาสตร์การเมือง ทำให้นาโตต้องกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารภายในให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ค่ำวันที่ 21 มีนาคม พลเอกเซอร์เกย์ ซอย์กู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียมีคำสั่งให้ทหารตำรวจรัสเซียคุ้มกันพลร่มของยูเครนที่ถอนกำลังออกจากเขตไครเมีย พร้อมยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ กองทัพป้องกันตนเองไครเมียเคยเรียกร้องให้ทหารยูเครนมอบอาวุธและยุทโธปกรณ์ทั้งหมดแล้วถอนตัวออกไป ขณะนี้ ทหารยูเครนประจำไครเมียจำนวนมากได้แสดงเจตนารมณ์ว่าอยากเข้าร่วมกองทัพรัสเซีย
นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติที่กำลังเยือนยูเครนกล่าวที่กรุงเคียฟว่า วิกฤตระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่เกิดขึ้นจากปัญหาไครเมียนั้น ต้องแก้ไขโดยสันติวิธี เขายังกล่าวว่า สองฝ่ายควรหลีกเลี่ยงใช้ปฏิบัติการที่อาจจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและปั่นป่วนยิ่งขึ้น
นายอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานรัฐสภายูเครนกล่าวว่า ยูเครนเตรียมจะเจรจากับรัสเซีย หวังว่าสหประชาชาติจะสนับสนุนยูเครนสร้างเขตปลอดทหารในไครเมีย เพื่อแก้ไขวิกฤติโดยสันติวิธี
Nune/Lr