ระหว่างบรรทัด: "ปักกิ่งในความทรงจำ" หนังสือบันทึกเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์จีนผ่านสายตาของหญิงไทยที่ใช้เวลากว่าค่อนชีวิตในประเทศจีน
  2014-06-16 14:16:04  cri

ประวัติศาสตร์จีนมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากมายหลายต่อหลายครั้งและส่งผลสะเทือนต่อชีวิตผู้คนชาวจีนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะครั้งสำคัญของจีนยุคหลัง คือการปฏิวัติวัฒนธรรมและการเปิดประเทศ ไปสู่โลกภายนอก

หนังสือ "ปักกิ่งในความทรงจำ" เขียนโดยคุณศรีกานดา ภูมิบริรักษ์ หญิงไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนกว่า50ปีบอกเล่าเรื่องราวของสังคมจีนต้้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม และเรื่องราวหลังจากนั้น ผ่านสายตาของคนที่ได้พานพบจากประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง โดยหลายเรื่องเธอก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์และเรื่องราวนั้นๆด้วย

คุณศรีกานดาเล่าเบื้องหลังที่มาของการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่าเกิดจากได้พบปะกับนักศึกษาจากเมืองไทยหลายคน ที่ไปเรียนต่อในปประเทศจีนแต่ไม่มีความรู้ ไม่มีข้อมูลเบื้องหลังประวัติศาสตร์และรากของความเป็นจีน ก่อนที่จะมาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นทุกวันนี้ จึงอยากบอกเล่าสิ่งที่ตนเองได้รู้ให้คนอื่นรับทราบด้วย

"ความสำเร็จของจีนทุกวันนี้กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย ความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนลำบากมาก โดยเฉพาะชีวิตหลังการปลดแอกแล้ว หวังว่าคนที่ได้อ่านโดยเฉพาะเด็กๆคนรุ่นใหม่ จะได้ศึกษาเปรียบเทียบและเข้าใจจจคนรุ่นพ่อแม่ได้มากขึ้น คนจีนยุคก่อนจะประหยัดมาก มีชีวิตที่ลำบาก อาหารและของใช้จำเป็นขาดแคลน ต้องใช้ระบบปันส่วนเช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำตาล บางทีแม้จะมีคูปองแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไปหาซื้อข้าวของได้ง่ายๆ ส่วนพวกเนื้อสัตว์ไม่ต้องพูดถึง คนหนึ่งได้รับคนละหนึ่งถึงสองขีดต่อเดือน จะได้กินครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆเท่านั้น ภาพเหล่านี้ไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เวลากินข้าวบางครั้งก็ยังนึกถึงความยากลำบากในอดีต"

เนื้อหาในหนังสือมีทั้งช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะนี้ สำนักพิมพ์มติชนได้นำมาจัดพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง คุณศรีกานดาได้เพิ่มเนื้อหาใหม่อีก 4 บท ได้แก่

เรื่องราวของการที่เยาวชนนักศึกษาจีนยุคนั้นต้องลงไปรับการศึกษาและทำงานใช้ชีวิตในชนบท (ผู้นำจีนรุ่นปัจจุบันหลายคนก็มีประสบการณ์นี้ บางอยู่นาน 6ปี บ้างอยู่เป็น10ปี ) ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาให้กับประเทศอย่างมาก

อีกเรื่องคือ แก๊งค์สี่คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองจีนในยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีความวุ่นวายและสับสนมาก

เรื่องของ "เจียงชิง"อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ภริยาประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้มีบทบาทสำคัญอยู่ในฐานะพิเศษที่ให้คุณให้โทษแก่คนต่างๆ มีอำนาจ เล่นงานผู้คนที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างมากมาย ทำให้การเมืองภายประเทศปั่นป่วน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ "การยึดถือกำเนิดของคน"ยุคนั้นชาวจีนที่เป็นลูกหลานของชนชั้นคนร่ำรวย พวกขุนนางศักดินาทั้งหลาย หรือทหารของก๊กมินตั๋ง จะถูกถือว่ามีชาติกำเนิดไม่ดี จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับลูกหลานของคนที่เคยทำงานรับใช้กองทัพ พรรคคอมมิวนิสต์ หรือมีส่วนร่วมในการปฏิวัติ คนกลุ่มหลังจะได้รับการยกย่องนับถือและมีสิทธิพิเศษหรือได้รับอภิสิทธิ์มากกว่า

มีโอกาสมากกว่าในสังคม รวมทั้งความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เช่นช่วงที่เปิดประเทศใหม่ๆ คนกลุ่มนี้จะได้โอกาสในการค้าขายและร่ำรวยอย่างรวดเร็วผิดหูผิดตา และก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่พัวพันกับเรื่องทุจริตคอรัปชั่น กลายมาเป็นกลุ่มศักดินาใหม่ในยุคหลังนั่นเอง

คุณศรีกานดาเล่าว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งกินเวลายาวนานนับ 10ปี ได้ส่งผลสะเทือนและสร้างความเสียหายให้กับสังคมจีนอย่างใหญ่หลวง มีคนที่เสียชีวิตประมาณ 20ล้านคน และถูกเล่นงานทางการเมืองอีกประมาณ 40ล้านคน จนถึงขณะนี้ก็ยังมีลูกหลานชาวจีนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกไม่น้อย ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศและยังคงคัดค้านจีน

บันทึกส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์จีนผ่านมุมมองของคุณศรีกานดา ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ได้พำนักอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จวบจนบัดนี้อายุกว่า70ปี ท่านได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลากหลายมิติและมองมุมต่างได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาในเล่มยังได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ ศรีบูรพา เพราะคุณศรีกานดาคือ คู่ชีวิตของคุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ เลขานุการคณะผู้แทนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งมี คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพาเป็นหัวหน้าคณะนำคณะไปเยือนจีนแล้วไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย ต้องลี้ภัยการเมืองในจีน ด้วยเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศไทย

ในหนังสือได้กล่าวถึงตัวอย่างของความมีเมตตาและมีน้ำใจของศรีบูรพา ทั้งต่อตัวคุณศรีกานดา และครอบครัวและยังห่วงไปถึงเพื่อนชาวจีนที่รู้จัก ในท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ระส่ำระสายในยุคนั้น และยังมีเหตุการณ์ที่ครอบครัวคุณศรีกานดาได้มีโอกาสถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกับท่านและภริยาคือ คุณชนิด สายประดิษฐ์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ศรีบูรพาจะเสียชีวิต ซึ่งท่านก็ไม่ทันได้เห็นภาพชุดนั้นแต่อย่างใด

 

คุณศรีกานดา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับซีอาร์ไอ โดยบอกเล่าภาพประทับใจที่ยังจดจำไว้ไม่ลืม ในฐานะที่ทั้งครอบครัวเคยมีโอกาสใกล้ชิดกับ "ศรีบูรพา" ว่า ท่านเป็น "สุภาพบุรุษ" ที่ไม่เคยกล่าวให้ร้าย นินทาว่าใครทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นนักคิด นักเขียนที่มีผลงานสร้างชื่อและประพฤติตนมีคุณธรรมเป็นแบบอย่างให้ทั้งกับคนใกล้ชิดและคนรุ่นหลังได้อย่างดี อีกทั้งมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ห่วงใยต่อคนอื่นๆ แม้ท่านจะไม่ใช่คนช่างคุย แต่ติดจะขรึมๆ แต่ท่านก็เป็นคนมีอารมณ์ขันสามารถเล่าเรื่องขำขันต่างๆให้กับคนใกล้ชิดได้ฟัง โดยท่านเล่าได้อย่าง "ตลกหน้าตาย"

"ยกตัวอย่างสักเรื่อง ที่ท่านเล่าให้พวกเราฟังแล้วเราก็หัวเราะกัน แต่ท่านก็ทำหน้าตาได้เฉยมาก มีครั้งหนึ่งท่านไปทานข้าวโดยมีล่ามชาวจีนไปด้วย ไปถึงหน้าห้องอาหารท่านเห็นป้ายกระดานดำเขียนข้อความด้านหน้าร้าน เป็นเมนูแนะนำอาหารประจำวัน ท่านก็ถามล่ามว่า คุณเฉิน (ล่าม) นั่นนะอะไร   ล่ามตอบว่า อ๋อ.. กระดานดำครับ ท่านก็บอกว่า แหม... คุณเฉิน กระดานดำนั่นผมก็พอรู้จัก แต่ที่ผมอยากรู้คือ เขาเขียนว่าอะไร คุณเฉิน เพิ่งนึกขึ้นได้ ก็เลยได้หัวเราะแหะๆ ขำกัน พราะเข้าใจความหมายไปคนละอย่าง"

อ่านประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้อดีตและเป็นการวางรากฐานเพื่อก้าวได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต คงไม่เกินเลยที่จะบอกว่าหนังสือ"ปักกิ่งในความทรงจำเล่มนี้" จะทำให้ผู้อ่านรู้จักอดีต เพื่อจะเข้าใจจีน

ในวันนี้ได้มากขึ้น

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

2014-06-13

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040