อย่างที่เกริ่นไปครั้งที่แล้วว่า ที่จีน เดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นฤดูแห่งการบอกลาชีวิตนักศึกษาสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ "ใครก็คาดไม่ถึงว่า สถาบันจะมอบชามให้เป็นของขวัญจบการศึกษา"
บัณฑิตรุ่นปี2014 ของมหาวิทยาลัยหัวตงเจียวทงต่างประหลาดใจไปตามๆ กัน เพราะในอดีตที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยจีนส่วนใหญ่จะมอบหนังสือรุ่น หรือเสื้อเป็นของที่ระลึกให้กับบัณฑิตเป็นสำคัญ
แต่ช่วงหลังๆ นี้ มหาวิทยาลัยในจีนต่างเริ่มให้ของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์ หรือครีเอทมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่งมอบน้องหมีบัณฑิตหรือเจ้าเหมียวใฝ่ศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีจีนมอบแหวนที่ระลึก มหาวิทยาลัยเหลียวหนิงจัดไปรษณียบัตรด้วยรักหรือแผ่นรองเมาส์ให้เป็นที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งปีนี้ที่เด็ดดังสุดเห็นจะไม่พ้น "ชาม" ของมหาวิทยาลัยหัวตงเจียวทง
บรรดาบัณฑิตที่ได้รับ "ชาม" เป็นของขวัญจากสถาบันต่างบอกรู้สึกซึ้งปนฉงนใจไปตามๆ กัน เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทุกคนล้วนต้องจำต้องมี "ชามข้าว" ที่เปรียบเสมือนอาชีพ กิจการ หรือช่องทางทำมาหากินของแต่ละคน ดังนั้น หลังจากการแจกชามได้ตกเป็นข่าวฮือฮา ชาวเน็ตบางคนแกล้งเหน็บว่าให้ชามข้าวคงหมายถึง "ออกไปขอข้าวเค้ากิน(ขอทาน) อย่าลืมสถาบันที่รักน๊า(ที่มอบชามให้)" หรือไม่ก็ "ออกไปแล้ว อย่าทำชามข้าวแตกซะล่ะ (ทำลายหนทางทำมาหากินของตน)"
แน่นอนที่ว่าทางสถาบันไม่ได้หมายถึงต้องการให้บัณฑิตจบออกไปแล้วไปขอข้าวใครกิน และหากจะไปขอข้าวใครกิน ก็ต้องอาศัยความสามารถของตนแลกมา ไม่ใช่ไปแบมือขอกันเปล่าๆ เพราะการใช้ความรู้ความสามารถทำให้ได้ข้าวมาไม่ใช่เรื่องน่าอาย
แต่บางคนเห็นว่า พูดไปแล้วชามข้าวของบัณฑิตแต่ละคนก่อนจะจบการศึกษา ได้มาจากความเหนื่อยยากลำบากของพ่อแม่ทั้งนั้น และอาจกล่าวได้ว่า เมื่อจบไปแล้วชามข้าวของตนก็ควรต้องอาศัยวิชาความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาออกไปค้นหาให้เจอเอาเอง ไม่ใช่ไปนั่งเกาะพ่อแม่กินอีก และก็ถูกอีกที่ว่า บัณฑิตทั้งหลายไม่ว่าจะไปทำงานอะไร ก็ต้องตั้งใจทำให้ดี ไม่ควรจะทำแบบส่งๆ ไม่ใส่ใจ จะเป็นการทำลายชามข้าวของตนเองเสียเปล่าๆ เป็นต้น
ดังนั้น หากตีความในแง่ดีแล้ว การที่มหาวิทยาลัยหัวตงเจียวทงแจก "ชามข้าว" แม้จะเป็นชามกระเบื้องเคลือบธรรมดา แต่ก็เป็นของขวัญแสนพิเศษที่แฝงความหมายลึกซึ้งทางปรัชญาเอาไว้ แฝงความหวังที่ว่าบัณฑิตทั้งหลายจะสามารถอาศัยความรู้ความสามารถของตน เปลี่ยนชามธรรมดาให้กลายเป็นชามทองคำได้ และถ้าเป็นไปได้ก็นำติดกลับมาสถาบัน บอกเล่าประสบการณ์ความสำเร็จของตนให้เป็นแนวทางแก่รุ่นน้อง
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府