หนังสือพิมพ์กวางหมิงรายวันรายงานว่า รายงานผลการวิจัยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2014 จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจบริหารประเทศ สถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย นโยบายเศรษฐกิจหลายๆ อย่างของคสช.ได้ประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน คาดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในครึ่งหลังปี 2014 จะสูงถึง 2.3% ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าจีดีพีปีที่แล้วที่เป็น 2.9% ก็ตาม แต่สูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่เป็น 1.8%
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ขณะนี้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง กลไกและการดำเนินนโยบายของภาครัฐเริ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจที่จะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นปกติมากขึ้น ปัจจัยแวดล้อมของเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปีนี้จะฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และได้ทบทวนปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนธุรกิจที่จะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีเติบโตสูงขึ้นมาโดยเฉลี่ยที่ 4.3% จากที่ขยายตัวเพียง 0.2% ในครึ่งปีแรก นอกจากนี้ ด้านการบริโภคของภาคเอกชนจะเติบโต 3.6% การใช้จ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้น 4.5% การลงทุนจะขยายตัว 7.3% การส่งออกและการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 5.7% และ 6.6% ตามลำดับ
รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจภายใต้คสช.เร่งกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ จึงมีส่วนช่วยให้จีดีพีปีนี้ดีขึ้น 1.0-1.5% นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้คสช.ที่สำคัญมี 3 ประการดังนี้
ประการแรก จ่ายคืนเงินจำนำข้าวแก่ชาวนาประมาณ 92,000 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตสำหรับผลผลิตในฤดูกาลต่อไป
ประการที่สอง เร่งอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนกว่า 700,000 ล้านบาท ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และประการสุดท้าย เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ เร่งรัดทำงบประมาณปี 2015 ให้มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2014
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ปัจจัย 4 ประการ เช่น การเติบโตของการส่งออกต่ำกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกจะส่งผลกระทบอย่าง มากต่อจีดีพีของไทย หากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 10% จีดีพีของไทยจะลดลง 0.6% และหากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 25% จีดีพีของไทยจะลดลง 1.7%
(YIM/cai)