"สานฝันในหมู่บ้าน"-งานแสดงศิลปะจากฝีมือชาวนาในประเทศจีน
  2014-09-11 19:40:52  cri

กรุงเทพฯ – 5 กันยายน 2557 เวลา 10.00 น. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ร่วมกับสมาคมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งนครฉงชิ่งจัดพิธีเปิดนิทรรศการผลงานศิลปะจากฝีมือของชาวนาในประเทศจีนภายใต้ชื่อ"สานฝันในหมู่บ้าน"โดยผลงานเหล่านี้นำมาจากพิพิธภัณฑ์ซานเสียแห่งนครฉงชิ่ง (China Three Gorges Museum –重庆中国三峡博物馆) สาธารณรัฐประชาชนจีน แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานเปิดนิทรรศการในครั้งนี้ อาทิ นายเฉินเจียง – ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย,นายฉิน อี้ว์เซิน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน, มาดาม หยางอี้ รองผู้อำนวยการสถาบันแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งนครฉงชิ่ง ฯ

สำหรับชาวนาชาวไร่ในชนบทแล้ว หากเปรียบไร่นาเป็นดั่งลมหายใจ การภาพวาดทำงานศิลปะก็เปรียบดั่งความฝัน เมื่อ ชีวิตมีความฝันก็มีความหวัง ความฝัน ความหวังและลมหายใจเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตของพวกเขาต้องต่อสู้ต่อไป

เอกลักษณ์พิเศษของภาพวาดศิลปะจากฝีมือของชาวนา นอกจากสีสันที่เน้นความสดใสและเรื่องราวของภาพที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นปัจจุบันแล้ว ยังเป็นงานศิลปะที่มาจากการผสมผสานเทคนิคหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดกระดาษ, การเย็บปัก, หุ่นละครเงา, การแกะสลักและการระบายสี ภาพวาดศิลปะชาวนา (Peasant Painting) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ภาพวาดแบบพื้นบ้านร่วมสมัย เริ่มต้นในช่วงปี 1950 โดยพัฒนามาจากการวาดภาพแบบดั้งเดิม เป็นการเรียกภาพวาดจากกลุ่มชาวนา, ชาวไร่,ชาวประมงหรือมือสมัครเล่นจากหลากหลายอาชีพที่ใช้วัสดุที่หาได้ในชีวิตประจำวันในเขตชนบท มาถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตจริง ซึ่งจะล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีน กลายมาเป็นงานศิลปะที่แสดงออกแบบเหนือความเป็นจริง ความร้อนแรงแห่งสีสัน และกลิ่นไอวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หนาแน่น ผลงานเหล่านี้มักจะแสดงให้เห็นถึงชีวิตของครอบครัวที่อบอุ่น บ้านเกิดแสนสวยงาม บรรยากาศช่วงการทำงานและความสุขในช่วงเทศกาลต่างๆ

ส่วนขั้นตอนในการทำงานภาพวาดศิลปะจากฝีมือชาวนา เริ่มจากการร่างภาพที่ต้องการลงบนกระดาษ เลือกสีที่ต้องการ ลอกลายบนแผ่นไม้ แกะสลักแผ่นไม้ตามรูปที่ร่างไว้ ลงสีบนแผ่นไม้ และสุดท้ายพิมพ์ภาพลงในกระดาษ ฟังดูอาจจะเหมือนง่าย แต่ทว่าแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความสามารถหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการใช้สมาธิ ขั้นตอนสุดท้ายคือการพิมพ์สีจากแผ่นไม้ลงกระดาษซึ่งไม่ได้ลงทั้งหมดแล้วพิมพ์ทีเดียว แต่ค่อยๆลงทีละส่วนอย่างใจเย็น

ศิลปินที่มาร่วมงานเล่าว่าแท่นพิมพ์ใช้ได้มากสุดถึงประมาณ 50 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กันแค่10-20 ครั้งหลังจากนั้นก็จะเริ่มสร้างรูปภาพใหม่ แท่นพิมพ์ไม้เหล่านี้เมื่อใช้เสร็จ สามารถนำไปล้างน้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และหากต้องการเปลี่ยนสีก็สามารถเลือกสีสันที่จะแต่งแต้มลงไปใหม่ได้เช่นกัน

นายเฉินเจียง – ที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวถึงการวาดภาพของศิลปินชาวนาไว้ว่าแม้จะไม่ได้รับการจัดเข้าระบบอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นศิลปะที่มีจุดเด่น ในต่างประเทศก็มีศิลปินชาวนาที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างเช่นที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่จีนเปิดประเทศ เศรษฐกิจก็พุ่งทะยาน แม้แต่ชาวนาชาวไร่ก็มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง ผลงานรูปภาพที่เราเห็นแสดงให้เห็นถึงชีวิตและความหวังของชาวนา จะเห็นได้ว่ามีความสุข กินอิ่มนอนหลับ และเริ่มขยับเข้าสู่การเป็นชนชั้นกลาง

มาดาม หยางอี้ รองผู้อำนวยการสถาบันแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแห่งนครฉงชิ่ง ถือโอกาสในครั้งนี้ เป็นตัวแทนคณะผู้จัดงานทุกฝ่ายกล่าวต้อนรับและขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน ผลงาน ที่นำมาแสดงในครั้งนี้มี 30 ชิ้นจากตอนแรกตั้งใจว่าจะนำมามากกว่านี้แต่ด้วยข้อจำกัดทางการขนส่ง ผลงานชุดนี้เคยถูกนำไปแสดงที่ แคนาดา แอฟริกา เม็กซิโกและอีกหลายประเทศ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างดี

นิทรรศการผลงานศิลปะจากฝีมือของชาวนาในประเทศจีนภายใต้ชื่อ"สานฝันในหมู่บ้าน"จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 5-11 กันยายน ศกนี้ โดยในช่วงวันที่ 5-7 จะมีรายการพิเศษ คือการแสดงขั้นตอนการทำภาพงานศิลปะให้ดูอย่างใกล้ชิด ผู้ที่สนใจสามารถใช้เวลาในวันว่างแวะไปชมผลงานที่ดูแล้วชื่นตาชื่นใจและอุดหนุนผลงานกลับไปชื่นชมต่อที่บ้านได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040