เมื่อเร็วๆ นี้ นายโจว ฉี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสหรัฐฯ ของสภาวิทยาศาสตร์สังคมจีนเขียนบทความระบุว่า ตั้งแต่นายสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเมื่อเดือนมีนาคม 2013 เป็นต้นมา นโยบายต่างประเทศของจีนมีการเน้นเป็นฝ่ายกระทำมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการรักษาอธิปไตยของจีน สหรัฐฯ จึงให้คำอธิบายว่า การต่างประเทศของจีนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ตั้งแต่จีนประกาศตั้งเขตป้องกันภัยทางอากาศบริเวณน่านน้ำทะเลตะวันออกเมื่อเดือนพฤศจิกายนเมื่อปี 2013 เป็นต้นมา ภายในสหรัฐฯ มีความท้อแท้ต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ บรรยากาศในการวางนโยบายต่อจีนก็เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อทะเลจีนใต้ ก็มีความแข็งแกร็งมากขึ้น แต่ทว่า หากพิจารณาคำกล่าวของนายสี จิ้นผิง ในโอกาสสำคัญทางการทูตต่างๆ หลังมีการพบปะกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเยือนสหรัฐฯ แล้ว ทิศทางแนวนโยบายต่างประเทศของจีนไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นั่นก็คือ ยังคงยืนหยัดตามหนทางการพัฒนาอย่างสันติ ด้านนโยบายต่อสหรัฐฯ นั้น ยังคงส่งเสริมและมุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ
นโยบายของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันดังต่อไปนี้ ภายใต้ภูมิหลังที่กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สันติภาพกับการพัฒนาได้กลายเป็นประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัย ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ยังคงเป็นความสัมพันธ์แบบฉันหุ้นส่วนที่มีความสำคัญที่สุด ผู้นำจีนเชื่อมั่นว่า จีน-สหรัฐฯสามารถที่จะเดินหนทางใหม่ที่แตกต่างกับอดีตที่มีการปะทะและเป็นปรปักษ์กันในความสัมพันธ์ระหว่างมหาประเทศ เกี่ยวกับการจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาประเทศแบบใหม่อย่างไรนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงสรุปประเด็นสำคัญไว้ 3 ประการ อันได้แก่ 1.ไม่ปะทะกัน และไม่เป็นประปักษ์กัน 2.ให้ความเคารพกัน และ 3.ให้ความร่วมมือเพื่อได้รับชัยชนะร่วมกัน
ทางด้านการแก้ไขปัญหาดุลการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ นั้น จีนย้ำว่า สหรัฐฯ ต้องปรับนโยบายและโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งรวมทั้งยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออกมายังจีนด้วย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพสองประเทศนั้น จีนยินดีและหวังที่จะกระชับการหารือการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ และในระดับต่างๆ ระหว่างกองทพสองประเทศ เพื่อทำการซ้อมรบร่วม และดำเนินความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริง
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ผลประโยชน์ของจีนกับสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกันมากที่สุด จีนเห็นว่า จีน-สหรัฐฯมีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าข้อขัดแย้งกันในภูมิภาคนี้